รมว.เกษตรฯลงพื้นที่ติดตามการวางแผนป้องภัยแล้งลุ่มน้ำยม

10 ก.พ. 2560 | 03:25 น.
รมว.เกษตรฯลงพื้นที่ติดตามการวางแผนป้องภัยแล้งลุ่มน้ำยม ย้ำการบริหารจัดการน้ำให้ผลผลิตที่ปลูกแล้วไม่ให้เสียหาย พร้อมวอนหลังเก็บเกี่ยวข้าวหันปลูกพืชน้ำน้อย/พักดิน และเร่งสร้างความเข้าใจเกษตรกรในพท.ลุ่มต่ำเลื่อนทำนาเร็วขึ้นช่วงเมษาก่อนเข้าฤดูน้ำหลาก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพิษณุโลกว่า  วันนี้ (10 ก.พ.60) เวลา 09.00 น.พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร  โดยมี นายชูชาติ  กีฬาแปง ผู้ว่าราชจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่  นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการ  นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริการเกษตร บรรยายสรุปการดําเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม  และนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน บรรยายสรุปการพัฒนาแหล่งขนาดเล็ก/การส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือภัยแล้งในลุ่มน้ำยมทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเพิ่มเติม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังแก้มลิงบึงตะเคร็ง ต.บางระกำ อ.บางระกำ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการแก้มลิงในพื้นที่ ก่อนพบปะเกษตรกร ต่อจากนั้นรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต.คุยม่วง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการปลูกพืชทดแทนนาปรัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชหลากหลาย และพบปะเกษตรกร สำหรับในช่วงบ่าย รมว.เกษตรฯ ได้ประชุมรับฟังบรรยายสรุปนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จาก Single command จังหวัดพิษณุโลก ณ สำนักชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก ก่อนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานขับเคลื่อนงานตามนโยบายไปสู่เกษตรกร ณ แปลงเกษตรกรที่น่าสนใจในพื้นที่อีกด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่เช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ทําให้ฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วม และในฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้ จึงต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยม และ แหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งมีน้ำรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 241,898 ไร่  แบ่งเป็น จ.สุโขทัย มีน้ำใช้การได้ 175 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 190,898 ไร่  จ.พิษณุโลก มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 11,000 ไร่  และ จ.พิจิตร มีน้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 40,000 ไร่  ซึ่งในส่วนพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวสามารถดูแลได้ไม่เสียหาย

สำหรับแหล่งน้ำใน จ.สุโขทัย และ พิษณุโลก จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกํา จ.พิษณุโลก ได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้มลิงเพื่อรับน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง  โดยก่อสร้างคลองไส้ไก่ชักน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และก่อสร้างคลองชักน้ำเข้าแก้มลิง 3 แห่ง คือ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง ทําให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งนี้ เป็นการชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปอีกทางหนึ่ง   ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวนั้น ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทํามาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้งบปกติและมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ ต.ค. 59 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานให้ ครม.ทราบเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 ประกอบด้วย 6 มาตรการ 29 โครงการ เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเพิ่มน้ำต้นทุน และ การจัดทําแผนชุมชน เป็นต้น  ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นว่ามีสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรได้หรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่อย่างไร เช่น การแนะนําเกษตรกรปรับเปลี่ยนจาการปลูกข้าวไปปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าทนแล้งได้ดีกว่า และช่วยเกษตรกรในเรื่องแหล่งรับซื้อผลผลิตด้วย  ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มน้ำยมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานมักท่วมในฤดูน้ำหลากช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. จึงจําเป็นต้องเริ่มประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมให้เกษตรเริ่มการเพาะปลูกในช่วงเดือน เม.ย. 60

“ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำ และ วางแผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านเกษตร ปี 2559/2560 เนื่องจากผลพวงจากภัยแล้งปีที่แล้วทําให้ต้นปีมีน้ำใช้การในเขื่อนต่างๆ น้อยกว่าทุกปี  โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 59ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ก็ได้สั่งการให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทํามาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้วโดยใช้งบปกติ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก  พบว่า ประสบผลสําเร็จมาก เพราะได้วางแผนล่วงหน้าบูรณาการทํางานร่วมกัน และ ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง  สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน มีน้ำอุปโภคบริโภคถึง ก.ค. 59 เขตประกาศช่วยเหลือภัยแล้งน้อยกว่าปีก่อนๆ อีกด้วย” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว