กสอ.เผยผู้ประกอบการญี่ปุ่นมั่นใจไทยเป็นฐานซัพพลายเชน

07 ก.พ. 2560 | 09:36 น.
วันที่  7 ก.พ. 60 - ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2560 กสอ. ได้ร่วมมือกับจังหวัดฟุกุโอกะ ซึ่งมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งด้วยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการผลิตมีการใช้นวัตกรรมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเพิ่มมาตรฐานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจากปัจจัยสนับสนุนที่ดีเหล่านี้ กสอ. จึงได้จัดกิจกรรมนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อ SMEs ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจากการร่วมมือดังกล่าวนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นได้ลงความเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นฐานบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิต เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สามารถผลิตสินค้าที่โรงงานในประเทศไทยได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการในจังหวัดฟุกุโอกะมีการลงทุนในประเทศไทยทั้งสิ้น 70 ธุรกิจ เกิดการเจรจาความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและฟุกุโอกะแล้วกว่า 500 เคส อย่างไรก็ตาม กสอ. มั่นใจว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ในลักษณะ win-win ให้กับภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมทั้งเอื้อประโยชน์ต่อทั้งการค้าและการลงทุนในประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต

[caption id="attachment_129105" align="aligncenter" width="503"] ดร.พสุ โลหารชุน ดร.พสุ โลหารชุน[/caption]

นอกจากนี้จากแนวโน้มที่ดีในการขยายตัวของอุตสาหกรรมในปี 2560 กสอ. ยังได้ร่วมมือกับประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายแรกที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากกลุ่มประเทศนี้ยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง โดยได้ตั้งเป้าความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาในด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สปป.ลาวเป็นการร่วมมือในด้านพลังงาน เมียนมาร์เป็นความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง เครื่องมือการเกษตร และเวียดนามจะเป็นการร่วมมือในด้านอุตสาหกรรม สิ่งทอ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งล่าสุด กสอ. ได้เริ่มลงนามความร่วมมือกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อยกระดับความร่วมมือการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาผู้ประกอบการระหว่างสองประเทศ โดยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหภาพเมียนมาร์จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในด้านการพัฒนา SMEs และภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมียนมาร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีนโยบายเปิดประเทศและสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุน มีการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีเส้นทางคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในอนาคตจะเป็นเส้นทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง  ทั้งนี้ ในความร่วมมือนั้น มุ่งเป้าในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม เป็นต้น

จากการที่อาเซียนได้ตั้งเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ กสอ. ยังได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะเน้นความร่วมมือในการสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวรวมทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ให้เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน ประกอบกับส่งเสริมให้นักลงทุนไทยขยายการลงทุนออกไปสู่ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความพร้อมทางด้านแรงงานและมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางเศรษฐกิจในประชาคม ทั้งนี้ ในปัจจุบันธุรกิจของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นและมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามากขึ้น ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งความแข็งแกร่งดังกล่าวนี้จะเป็นอาวุธที่ทำให้อุตสาหกรรมของไทยก้าวต่อไปในเวทีการค้าในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมั่นคง