‘อภิสิทธิ์’วิพากษ์ไทยแลนด์4.0 ขาดความเชื่อมโยงที่เป็นระบบ

09 ก.พ. 2560 | 02:00 น.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนปัจจัยทำเศรษฐกิจประเทศซึมยาว เกิดจากเงื่อนไขนอกประเทศ ขีดความสามารถการแข่งขันและการเมือง ให้กำลังใจ “ประยุทธ์” ใช้มาตรการกระตุ้นประคับประคองไปก่อน ขณะเดียวกันให้เร่งทำโครงสร้างพื้นฐาน แก้กฎหมายเพิ่มขีดความสามารถทางการเข่งขัน และลดเลื่อมล้ำในสังคม แนะผสมผสานไทยแลนด์ยุค 1.0 - 4.0

  3ปมเงื่อนไขเศรษฐกิจไม่โต

อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นใจรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่เป็นใจ ประกอบด้วย หนึ่งปัจจัยภายนอกไม่ได้เอื้ออำนวยนัก ประการที่สองการสะสมปัญหาเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขันไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและเร็ว ประการที่สาม เงื่อนไขทางการเมืองทำให้หลายเรื่องที่มีข้อจำกัด เช่น การเจรจาการค้า การที่นักลงทุนจะตัดสินใจเอาเงินลงมาโดยที่ยังเป็นสถานการณ์ผิดปกติอยู่ชั่วคราวซึ่งทำยากหมด

สาเหตุที่เศรษฐกิจสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ดี เพราะส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ รัฐบาลมองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนบท หลังจากเริ่มนโยบายจำนำข้าว แล้วไม่เอานโยบายที่เป็นระบบ เช่น การประกันรายได้ เป็นต้น สองรัฐบาลยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงนโยบายทางเศรฐกิจ สังคม การเมือง ว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเยอะมาก

ประเด็นเรื่องการขาดความเชื่อมโยงทางนโยบายนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลเร่งผลักดันโมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้เกิดขึ้นภายใน 2-3 ปี มีหลายอย่างที่ยังเป็นข้อจำกัด อาจจะตัดเรื่องต่างคนต่างทำงานแล้วมองไปคนละทิศ ในความเป็นจริง ถ้าเรามองไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ไม่ควรคิดว่าทุกอย่างต้องมองธุรกิจที่อิงกับเทคโนโลยีทั้งหมด แม้ว่าธุรกิจที่เกิดจากนวัตกรรม เกิดจากเทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี แต่ทิ้งการมองในกรอบของภาคการผลิตหลักๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย 1.0 (สังคมเกษตรกรรม) หรือ ประเทศไทย 2.0 (เน้นอุตสาหกรรมเบา) และประเทศไทย 3.0 (มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น) ไม่ได้

 ผสมผสานยุค1.0- 4.0

ยกตัวอย่างประเทศไทย 1.0 ที่เน้นด้านเกษตรกรรม การเพิ่มมูลค่าการผลิตเป็นช่องทางการตลาด เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ปัญหาพื้นฐานที่ไม่ใช่ประเทศไทย 4.0 เช่น เรื่องน้ำ ดิน ปัญหาขนาดของชุมชน เหล่านี้ต้องมีคำตอบ ซึ่งไม่ได้อิงกับคำพูดที่ไม่ใช่ไทยแลนด์ยุค 4.0 ยุค 2.0 และยุค 3.0 ถ้าโรงงานปิดแค่ 1 แห่ง ต้องคิดว่าจะส่งผลให้สตาร์ตอัพประสบปัญหาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไทยในยุค 1.0 2.0 และ 3.0 ก็ต้องอยู่ แต่จะอยู่แบบไหน อย่างไร แน่นอนต้องผสมผสานแนวคิดเป็น 4.0

[caption id="attachment_129083" align="aligncenter" width="482"] ‘อภิสิทธิ์’วิพากษ์ไทยแลนด์4.0 ขาดความเชื่อมโยงที่เป็นระบบ ‘อภิสิทธิ์’วิพากษ์ไทยแลนด์4.0 ขาดความเชื่อมโยงที่เป็นระบบ[/caption]

ข้อสังเกตที่ นายอภิสิทธิ์ สะท้อนไปยังรัฐบาลคือ หนึ่ง นโยบายหลายเรื่องต้องลงละเอียดมากขึ้น 2. สิ่งที่ ไทยแลนด์ 4.0 ไม่มีคำตอบให้ คือปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจ และความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้สะท้อนหลายอย่าง ไม่ว่าเรื่องโครงสร้าง รวมทั้งวิธีการบริหารเศรษฐกิจ ผู้บริหารเศรษฐกิจเวลาที่บริหารเศรษฐกิจประเมินสถานการณ์จากอะไร จากจีดีพี เงินเฟ้อง เงินไหลเข้าออก อัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งวันนี้ในต่างประเทศยอมรับว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้อาจไม่ได้สะท้อนชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเรื่องราคาพืชผลการเกษตรและปัญหาปากท้องคือชีวิตของเขา

“ถ้าถามว่าวันนี้เงินเฟ้อมันน้อยมาก แล้วน้อยมากี่ปีแล้ว แต่คุณกินข้าวแกงแพงขึ้น แล้วตัวเลขทำไมไม่สะท้อน ขณะนี้สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องเร่งรื้อระบบตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไม่สัมพันธ์กับชีวิตของคนส่วนใหญ่แล้ว วันนี้ตัวเลขจีดีพีต่อหัวไม่มีความหมายเท่ารายจ่าย และปัญหาหนี้สินของครัวเรือน ถ้าเราไม่เปลี่ยนเรื่องเครื่องมือในการที่จะมาบอกอาการของเศรษฐกิจเราก็แก้ไม่ถูก ไม่นับเรื่องรายละเอียดของความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น มันสร้างให้เกิดการผูกขาดหลายๆส่วน สิ่งเหล่านี้ เราไปดูแล้ว ถ้าเราไม่แก้สิ่งที่เราคาดหวังจะให้เกิด ทั้ง เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ลืมตาอ้าปากไม่ง่าย เพราะมีจุดที่เป็นคอขวด การผูกขาดที่ทำให้บริษัทเล็กใหม่ๆ เติบโตได้ยาก”

และข้อสังเกตประการที่ 3 นายอภิสิทธิ์ ชี้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 ในตัวของมันเองบอกต้องส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมความสร้างสรรค์ ถามว่าการส่งเสริมตัวนี้มันต้องทำอะไรบ้าง คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีอีกหลายเรื่อง เช่น ถ้าพูดเรื่องความสร้างสรรค์ ก็ต้องมีเรื่องเสรีภาพ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องอะไรอีกหลายเรื่อง แต่เราไม่ได้ยินการเอาเรื่องเหล่านี้มาเชื่อมโยง และครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ด้วย

 แนะเร่งแก้โครงสร้างพื้นฐาน

แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น นายอภิสิทธิ์ แนะว่า 1.ประคับประคอง 2.เร่งทำโครงสร้างพื้นฐาน และแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และลดความเลื่อมล้ำในสังคม

“ผมเห็นใจคนทำงาน เพราฉะนั้นสิ่งทำได้คือ 1.ประคับประคอง อันไหนที่มันทรุดก็ให้มันพอลืมตาอ้าปากได้ ก็ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประคองไปก่อน 2.สิ่งใดที่ทำได้ทั้งในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถต้องเริ่มต้น ไม่ว่าโครงการสร้างพื้นฐาน การแก้กฎหมายก็ตาม แต่ถามว่าประสบความสำเร็จแค่ไหน ตอนนี้ก็คงประคับประคองไปก่อนเท่านั้นเอง”

ในส่วนของการออกกฎหมาย กฎหมายอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ อันนี้จริงๆ เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมาตั้งแต้ต้นแต่มีผลบังคับใช้มา 2 ปีแล้ว ยังไม่เห็นธุรกิจไหนบอกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย และเรื่องที่เป็นห่วงคือ พอเริ่มคุ้นกับการใช้อำนาจพิเศษ เรื่องปัญหาพื้นฐานเลยไม่ได้แก้ และแก้แบบสุดโต่ง

ยกตัวยอย่างกรณีรัฐบาลมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะให้อีอีซีเกิดขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดที่ออกคำสั่งระเบียงเศรษกิจ โดยไปยกเว้นกระบวนการอนุมัติอนุญาตทั้งหมดให้กลายเป็นเรื่องของกรรมการไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริง แต่เป็นการซ้ำเติม เพราะถ้ามองปัญหาความเลื่อมล้ำ จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงระดับต้นๆของประเทศ แต่รายได้ครัวเรื่อนของคนระยองอาจไม่ดีไปกว่าคนจังหวัดอื่น หรือแม่แต่ในจังหวัดใกล้เคียง ซ้ำคุณภาพชีวิตอาจจะแย่ลงอีกด้วย

“เหมือนตอนที่ผมเป็นรัฐบาลผมไปค้นพบว่า คนมาบตาพุดไม่มีน้ำประปาใช้ แบกเรื่องมลพิษ แต่ว่าถ้าไปสำรวจรายได้แล้วรวมรายได้บริษัทที่อยู่นิคมอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นว่าจังหวัดนี้ร่ำรวยมาก นี่คือความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น” อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560