การค้าสหรัฐฯภายใต้นโยบาย "America First" และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

06 ก.พ. 2560 | 07:26 น.
การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ภายใต้นโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)"  ซึ่งเน้นการปกป้อง ชาตินิยม และการกระจายรายได้รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ โดยการตัดสินใจด้านต่างๆ ทั้ง ภาษี คนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานชาวสหรัฐฯ และครอบครัวชาวสหรัฐฯ เพื่อมุ่งสูงวิสัยทัศน์ “Make America Great Again”ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้มีการดำเนินมาตรการตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะ การออกคำสั่งพิเศษ (executive order) จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งหลายนโยบายส่งผลต่อทิศทางการค้าโลกรวมถึงการส่งออกไทย ในปี 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯและประเมินผลกระทบต่อไทยใน 7 นโยบายสำคัญ ดังนี้

1. นโยบายการกีดกันทางการค้า โดยเพิ่มภาษีนำเข้าหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯมีการขาดดุลการค้าสูง โดยเฉพาะ จีนและเม็กซิโก รวมถึงเตรียมทบทวนข้อตกลงกับการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) กระทรวงพาณิชย์ประเมินสถานการณ์ทั้งที่เป็นความเสี่ยงและโอกาสแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

กรณีที่สหรัฐฯใช้มาตรการดังกล่าวเป็นรายสินค้าและบังคับใช้เป็นการทั่วไป: กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อสินค้าโดยเฉพาะ สินค้าที่ไทยมีการพึ่งพาและมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องจักรสำหรับการพิมพ์ กล้องถ่ายโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลไม้กระป๋อง และกุ้งสดแช่แข็ง เป็นต้น

กรณีที่สหรัฐฯใช้มาตรการดังกล่าวเป็นรายสินค้าและบังคับใช้เฉพาะบางประเทศ: กรณีนี้สินค้าที่ไทยมีโอกาสทดแทนจีนและเม็กซิโกในตลาดสหรัฐฯและแคนาดา ได้แก่ สินค้า Consumer goods ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกสูง และเป็นคู่แข่งทางการค้ากับไทย อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องรับโทรทัศน์ รถจักรยานและจักรยานยนต์และชิ้นส่วนพาหนะ เตาอบ (ยกเว้นเตาอบไมโครเวฟ) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

2. การส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยการเน้นการลดภาษี ลดกฎระเบียบ ผ่อนคลายข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและดึงดูดการลงทุนกลับประเทศ ผลกระทบระยะสั้น อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเดิมของสหรัฐฯและพันธมิตรการลงทุนในประเทศไทยในกิจการที่เป็นการผลิตสินค้าขั้นกลางสำหรับ Global Supply Chain และเน้นตลาดในอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม การลงทุนผลิตที่เน้นจำหน่ายในตลาดภูมิภาคเอเชียและใกล้เคียงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวมากนัก

3. นโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) โดยเพิ่มการขาดดุลการคลังเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โครงข่ายไฟฟ้า ระบบคมนาคมสื่อสาร การพัฒนาและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้ง ท่าเรือ สนามบิน ท่อส่งน้ำมัน และถนน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯระยะสั้นและเพิ่มกำลังซื้อประชาชน และจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันให้ FED เพิ่มอัตราดอกเบี้ย และอาจมีความเสี่ยงต่อการผันผวนของค่าเงินและตลาดทุน ทั้งนี้เชื่อว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และรักษาความสามารถการแข่งขันของการส่งออกไทยไว้ได้

4. กีดกันแรงงานและผู้อพยพจากต่างประเทศ โดยดำเนินการสร้างกำแพงในเขตแดนที่ติดกับเม็กซิโก ตัดลดงบประมาณในรัฐที่มีผู้อพยพ ห้ามประชาชนจาก 7 ชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ และส่งกลับแรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจกระทบต่อแรงงานไทย หากสหรัฐฯใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการทั่วไป อย่างไรก็ดี จะเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

5. สหรัฐถอนตัวจาก TPP โดยนโยบายการค้าสหรัฐฯจะมุ่งเน้นการเจรจาทวิภาคีมากกว่าการทำความตกลงแบบพหุภาคี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไทยเนื่องจากคู่แข่งทางการค้าสำคัญในสหรัฐฯ (เวียดนามและมาเลเซีย) จะไม่ได้เปรียบไทยในตลาดสหรัฐฯจากการเป็นสมาชิก TPP โดยสินค้าไทยที่จะมีความผ่อนคลายจากข้อกังวลของการมี TPP ที่มีสหรัฐฯเป็นสมาชิก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป

6. การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานน้ำมันในประเทศ ฟื้นโครงการท่อส่งน้ำมัน "คีย์สโตน เอ็กซ์แอล"และ "ดาโกตา แอ็กเซส" ซึ่งคาดว่าขนส่งน้ำมันได้ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน กรณีนี้เป็นปัจจัยที่คานอำนาจการกำหนด Supply ของกลุ่ม OPEC และดึงให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสทรงตัวในระดับปานกลางที่ประมาณ 50-60เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย

7. นโยบายการค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทย เช่น ทบทวนสถานะ PWL รวมถึงทบทวน GSP ในปี 2017 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินสถานการณ์ว่า สหรัฐฯจะยังคงมาตรการที่มีต่อไทยและอาจพิจารณาทบทวนสถานะ PWL ของไทยซึ่งคงอยู่มาเป็นปีที่ 9 อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการและความพยายามต่างๆของไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้ง คกก.ป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้สถานะของไทยดีขึ้น ในขณะที่การทบทวนการให้ GSP มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งรายได้ นโยบายการค้า และการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งก็คงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เคยใช้เป็นปกติ

โดยภาพรวมแล้ว การค้าระหว่างประเทศของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในระดับสูง รวมถึงไทยมีโอกาสในการที่จะทดแทนการส่งออกของจีนและเม็กซิโก ในกรณีที่สหรัฐดำเนินมาตรการทางการค้ากับจีนและทบทวนกรอบข้อตกลงกับการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในหลายสินค้า รวมถึงการยกเลิก TPP จะช่วยรักษาความสามารถการส่งออกไทยและดึงดูดการลงทุนกลับมาในไทยมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไทยล่าสุดยังอยู่ในทิศทางที่ดี ทั้งดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs  และดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย (JCC) โดยเฉพาะดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 63.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีค่าเท่ากับ 62.6 โดยผู้ประกอบการส่งออกมองว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของการค้าในกลุ่มเอเชียใต้ โดยเฉพาะ อินเดีย บังคลาเทศ รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผักผลไม้ (สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป) ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง เชื้อเพลิงและพลังงาน อาหารสำเร็จรูป และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมที่ยังต้องติดตามยังมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีน ความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุนออก และมาตรการทางการค้าที่อาจมีเพิ่มเติม รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่อาจทรงตัวในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในระยะต่อไป โดยผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ และนักลงทุนควรเตรียมความพร้อม ติดตามสถานการณ์ มีความรอบคอบในการลงทุน และประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประมาณการส่งออกของไทยในปี 2560 ว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 2.5-3.5