"โรลส-รอยซ์"ปฏิเสธ ไม่ให้ข้อมูลการบินไทย

03 ก.พ. 2560 | 13:22 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  แถลงถึงผลการตรวจสอบสินบน โรลส รอยซ์ ว่า หลังครบ 15 วัน นายจรัมพร โชติกเสถียร ดีดีการบินไทย ได้รายงานความคืบหน้าว่า การบินไทยได้ดำเนินการไปแล้ว 4 เรื่องคือ 1. ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดขึ้นมาตรวจสอบ 2.การให้ความร่วมมือด้านข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการประสานเพื่อขอข้อมูลในเรื่องนี้ 3. นำระบบคุณธรรมมาใช้ในการขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และ 4. พิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ผ่านนายหน้าหลังปี 2555 ได้มีการส่งข้อมูลให้ ปปช. และสตง.ว่า มีใครที่เกียวข้องในเรื่องนี้บ้าง

ทั้งนี้นายจรัมพร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การบินไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 2 ชุด คือ ชุดแรกเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ เพื่อมาไล่ดูว่าการจัดซื้อเครื่องยนต์ในแต่ละระยะช่วงสินบนมีใครเป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนบ้าง และได้ส่งข้อมูลไปให้ ป.ป.ช. แล้ว ชุดที่ 2 คณะกรรมการตรวจสอบขบวนการจัดหาเครื่องยนต์และซ่อมบำรุง ซึ่งจะดูขบวนการที่ผ่านมาเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ โดยได้มีการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันพบว่า การบินไทย มีขั้นตอน 13 ขั้นตอน ถือว่าเป็นการทำตามขั้นตอนครบถ้วน ซึ่งการที่เราตรวจสอบกระบวนการในช่วงนี้ก่อน เพราะเป็นช่วงที่โรลส รอยซ์ ไม่ใช้นายหน้าตั้งแต่ปีดังกล่าว

ต่อจากนี้จะตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ย้อนหลังในช่วงที่มีเรื่องสินบน 3 ระยะ ตามที่ สำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษหรือเอสเอฟโอระบุไว้ โดยการบินไทยจะประสานงานไปยังปปช.ว่าต้องการข้อมูลกระบวนการจัดซื้อในช่วงใด เราก็จะไปตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อเครื่องยนต์ในช่วงนั้นว่าเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่

“การบินไทยได้มีการประสานขอข้อมูลไปยังโรลส์ รอยซ์ เพื่อขอข้อมูลว่ามีใครเกี่ยวข้อง แต่ได้รับการปฏิเสธและได้ประสานไปยังเอสเอฟโอ เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลที่จะตรวจสอบเรื่องทุจริต ทางปปช.จะเป็นหน่วยหลักที่จะเปิดข้อมูลได้มากกว่า การบินไทย ทำได้แค่การให้ความร่วมมือด้านข้อมูลที่ปปช.ร้องขอ ส่วนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ตามยุทธศาสตร์ 10 ข้างหน้า ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนทั้ง 13 ขั้นตอน ที่การบินไทยได้มีการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยการจัดซื้อเครื่องยนต์และเครื่องบินของการบินไทย ต้องมีแผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องหลัก มีการระบุขั้นตอนความต้องการประเภทเครื่องบิน เครื่องยนต์ มีการเปิดซองเทคนิค การเปรนียบเทียบราคา ตรวจสอบราคา เจรจาต่อรองที่จะมีคณะกรรมการทุกขั้นตอน ก่อนนำเรื่องเสนอบอร์ดจัดซื้อ ” นายจรัมพร กล่าวทิ้งท้าย