คิกออฟ ‘โรดแมป ป.ย.ป.’ 27วาระปฏิรูปประเทศ

05 ก.พ. 2560 | 17:00 น.
ตามกรอบ “โรดแมป” อีก 1 ปีกว่า จะมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงจัดประชุมเวิร์กช็อปคณะกรรมการการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)เพื่อขับเคลื่อนแผนงานปฏิรูปประเทศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อจัดลำดับความสำคัญจาก 134 วาระปฏิรูปประเทศของ สปท. ร่อนตะแกรงเหลือ 27 วาระปฏิรูปประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กำชับไว้เป็นแนวทางว่า ในปี 2560 จะต้องรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด เพื่อนำมาสร้างการรับรู้โดยการทำงานของคณะย่อยทั้ง 4 คณะ ใน ป.ย.ป. ซึ่งจะต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดกับสังคม โดยจะต้องแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินเชิงรุก การมีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และการออกกฎหมาย เพื่อทำการปฏิรูปให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้โดยเร็ว ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมด คือ 20 ปี ข้างหน้า

“วันนี้มีป.ย.ป. เพื่อทำเรื่องเร่งด่วนให้เร็วขึ้น งานใดเดินหน้าแล้วติดขัดก็จะนำงานนั้นมาบริหารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปลดล็อกทำให้งานเกิดความยั่งยืน สานต่อจากที่ทำมา 2 ปีครึ่งกับสิ่งที่กำลังทำอยู่อีก 1 ปี และสิ่งที่กำลังจะส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ขณะที่นายพรเพชร กล่าวถึงแนวทางการทำงานของ สนช.ว่า จะปรับเปลี่ยนทำงานเชิงรุกโดยสนับสนุนการทำงานทันทีที่รู้ล่วงหน้า ต่างจากเดิมที่รอรับกฎหมายที่ทำเสร็จแล้วเท่านั้น รวมถึงจะเร่งทำกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดจำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา แบ่งเป็น กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับที่ต้องทำให้เสร็จใน 8 เดือนพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศที่ต้องทำให้เสร็จใน 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ รวมถึงกฎหมายที่มาจากรัฐบาลซึ่งอยู่ที่ สนช.กว่า 30 ฉบับ ส่วนกฎหมายที่มาจากข้อเสนอผลการศึกษาของ สปท.นั้น ป.ย.ป. จะจัดลำดับต่อไป

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป.ชี้แจงถึงกรอบการทำงานของ ป.ย.ป.ว่า มี 4 วาระประกอบด้วย

TP14-3233-b 1.วาระการปฏิรูปที่ดำเนินการผ่าน สปท. ซึ่งมี 5 วาระเร่งด่วนสูงสุดของนายกรัฐมนตรี 36 วาระที่จัดลำดับเร่งด่วน และวาระการปฏิรูปอื่นๆจาก 134 วาระ

2.การจัดลำดับความสำคัญวาระการปฏิรูปที่ได้นำทั้งหมดมาจัดกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อผลักดันเร่งด่วนในปี 2560 มีวาระปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วนรวม 27 วาระ สามารถจัดเป็น 4 กลุ่ม คือ การปฏิรูปกลไกภาครัฐ 9 วาระ, การพัฒนาคน 5 วาระ, เครื่องมือพัฒนาฐานราก 4 วาระ และ เศรษฐกิจอนาคต 3 วาระ อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ผังเมือง พลังงานทดแทน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการบริหารระดับท้องถิ่น และการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะนำไปปรับอีกครั้ง

3.กระบวนการผลักดันวาระการปฏิรูปและข้อเสนอ ผ่านคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของป.ย.ป.ที่จะลดขั้นตอนกระบวนการผลักดันวาระการปฏิรูปให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็สามารถนำเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสนช. หากไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย ก็จะเข้า ครม. ส่งไปที่กระทรวงต่างๆเพื่อปรับเปลี่ยนไปตามมติของเรื่องการปฏิรูปนั้นได้

4.การบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้ ป.ย.ป. โดยคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศแล้ว เสนอให้แต่งตั้ง 4 คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย คือ 1.คณะอนุกรรมการว่าด้วยการเตรียมการพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูป 2.คณะอนุกรรมการประสานกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป 3.คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม และ4.คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล ซึ่งจะหารือแนวทางการทำงานอีกครั้ง เพื่อทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และชัดเจนมากขึ้น ไม่ทับซ้อนระหว่างภาครัฐ สปท. และ สนช.

ต้องจับตาต่อไปว่า ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน ป.ย.ป. ซึ่งได้นัดประชุม “คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง” จะมอบหมายแนวทางในการทำงานอย่างไร

โดยเฉพาะชุดสร้างความปรองดอง ที่มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ถูกจับตามองมากที่สุดว่า จะสามารถนำความสงบสุขในสังคมที่แตกแยกทางความคิด แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว กลับคืนมาได้หรือไม่

แผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข

น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่ากมธ.สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของสปท.มีข้อเสนอประเด็นปฏิรูป คือ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ และการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ

และร่างพ.ร.บ.ที่สปท.เห็นชอบเตรียมส่งให้รัฐบาลประกอบด้วย การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข, ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม

นอกจากนี้ การปฏิรูปที่วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบ คือ การปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติพร้อมร่างพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, ระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล, การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ, การปฏิรูปความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560