3ปัจจัยดันราคาน้ำตาลพุ่งต่อ ตลาดโลก-อินเดียต้องการสูง-ขายล่วงหน้าแล้ว14%

06 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
บริโภคนํ้าตาลโลกพุ่งเหนือผลผลิต 2 ปีซ้อน หนุนราคานํ้าตาลขาขึ้น ได้อานิสงส์ถ้วนหน้าทั้งโรงงานนํ้าตาลและชาวไร่อ้อย ค้าผลผลิตนํ้าตาลดิ่งปี 61 สถานการณ์อาจเปลี่ยน คนแห่ปลูกอ้อย ผลผลิตพุ่งอาจทุบราคาร่วงอนท.ตีปีกไร้ความเสี่ยงส่งออกโควตาข. เกือบหมดแล้ว

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นว่ามาจาก3ตัวแปรใหญ่คือ 1. ผลผลิตน้ำตาลโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผลผลิตน้อยกว่าการบริโภค(ดูตาราง) จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปี2559 ต่อเนื่องถึงปี2560 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยืนอยู่ในจังหวะขาขึ้น 2.เริ่มเห็นสัญญาณบวกของราคาชัดเจนขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน2559 ที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกไต่ขึ้นไปถึง 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่ช่วงกลางเดือนธันวาคมราคาจะปรับตัวลดลงมาที่18 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากกองทุนเก็งกำไรเข้ามาซื้อตั๋วน้ำตาลเพื่อเก็งกำไร พอราคาดีก็เทขายเอากำไร ล่าสุดเริ่มกลับมาเก็งกำไรต่ออีกครั้งในช่วงปีปีนี้

3.ประเทศอินเดียผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆในโลกมีการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในประเทศคลาดเคลื่อน โดยประเมินว่าปีนี้จะอยู่ที่ 23 ล้านตันน้ำตาลต่อปี เทียบกับปีที่2559 อยู่ที่ 25 ล้านตันน้ำตาล แต่ล่าสุดมีการประเมินใหม่ว่า ผลผลิตน้ำตาลน่าจะลงไปอยู่ 19-20 ล้านตันน้ำตาลต่อปี ในขณะที่การบริโภคน้ำตาลในอินเดียสูงถึง 25 ล้านตัน ทำให้อินเดียต้องกลับไปนำเข้า

นอกจากนี้ยังต้องจับตาการบริโภคน้ำตาลจากจีนด้วย เพราะเป็นผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่อีกรายว่ามีผลผลิตน้ำตาลในประเทศมากน้อยแค่ไหน มากขึ้นหรือลดลงจากปีที่ผ่านมาหรือไม่(ปีที่ผ่านมาผลิตน้ำตาลได้ 9-10 ล้านตันน้ำตาลต่อปี แต่มีการบริโภคอยู่ที่ 15 ล้านตันต่อปี จีนยังต้องนำเข้าอีก 5-6 ล้านตันต่อปี

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า ให้ระวังปี 2561 สถานการณ์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอาจเปลี่ยนไปอีก เนื่องจากการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, และ 9 ที่มติคณะรัฐบาล(ครม.) อนุมัติเมื่อเร็วๆนี้ในอัตรา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความ หวานที่ 10 ซี.ซี.เอส โดยราคาอ้อยสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลโควตาข.ที่ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)ส่งออกได้ในราคาเฉลี่ย 21เซ็นต์ต่อปอนด์

"การที่ราคาอ้อยขั้นต้นสูงขึ้น ทำให้เป็นที่จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยกันมากขึ้น รวมถึงผลผลิตอ้อยในตลาดโลกถ้ามีปริมาณสูงขึ้นก็จะทำให้ราคาอ้อยและน้ำตาลร่วงลงมาได้ เพราะมีผลผลิตจำนวนมากอยู่ในตลาด ก็น่าจะเป็นปีที่ต้องมาลุ้นกันว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นอีกหรือไม่"

ด้านนายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรืออนท. กล่าวว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2559/2560 (เริ่มตุลาคม2559-กันยายน2560) อนท.ทำราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าไปแล้ว 83.77% จากที่มีปริมาณน้ำตาลโควตาข. (น้ำตาลที่ส่งออกโดยอนท.)จำนวน 8 แสนตันต่อปี โดยราคาอยู่ที่ 21 เซ็นต์ต่อปอนด์ รวมค่าพรีเมียมแล้ว ถือว่าขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงต่อการส่งออก

นอกจากนี้ล่าสุดอนท.ได้ขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าฤดูการผลิตปี2560/5261 ไปแล้วประมาณ 14% หรือราว 1.10 แสนตัน เมื่อเทียบกับโควตาข. ที่อนท.ส่งออกต่อปีอยู่ที่ 8 แสนตัน โดยขายในราคาล่วงหน้า ที่ประมาณ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์

ทั้งนี้ราคาล่วงหน้าฤดูการผลิตปี 2560/2561 ตามราคาณ.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี2560 ราคาเดือนมีนาคมอยู่ที่ 20.13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 19.46 เซ็นต์ต่อปอนด์ และราคาเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 18.78 เซ็นต์ต่อปอนด์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560