ปลัดพาณิชย์เผย Mini MOC เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

01 ก.พ. 2560 | 03:45 น.
ปลัดพาณิชย์ เผย Mini MOC เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค เผยล่าสุดพาณิชย์ภาค 1 เดินหน้าผลักดันการค้า และเชื่อมโยงการค้าการลงทุนชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

นางสาววิบูลย์ลักษณ์  ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับโครงสร้างการทำงานในส่วนภูมิภาคใหม่ โดยได้บูรณาการการบริหารแบบกลุ่มจังหวัด และได้ทำการจัดตั้งพาณิชย์ภาค หรือ Mini MOC เพื่อยกระดับการทำงานให้ตอบสนองปัญหาได้อย่างคล่องตัว และเป็นผู้ขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดได้เต็มศักยภาพ ล่าสุดพาณิชย์ภาค 1 ได้เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและผลักดันการค้าชายแดน โดยมีแผนงานในการผลักดันการขยายตัวของธุรกิจในพื้นที่ การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระหว่างจังหวัดและกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

ทั้งนี้ โครงการที่พาณิชย์ภาค 1 ได้ดำเนินการสร้างความเจริญเติบโตในพื้นที่ เช่น โครงการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวชายแดน โครงการเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุนกลุ่มจังหวัดเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้ การส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าการค้า กรอบความร่วมมือของผู้บริหาร 3 ประเทศ 9 จังหวัด ร่วมมือกรอบความร่วมทางการค้าของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้การค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดในพาณิชย์ภูมิภาค ภาค 1 มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน พาณิชย์ภาค 1 เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ โดยเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดตอนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี เป็นเมืองหลวงแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในการเป็นเมืองหลักในการเชื่อมต่อเมืองหน้าด่านอย่างจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู และมีตลาดกลางผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคในการ           เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้าทัณฑ์บน และทำเลที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีจังหวัดติดกับสปป.ลาว ถึง 5 จังหวัด คือ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร มีมูลค่าการค้าชายแดนมากกว่า 200,000 ล้านบาท

“โครงการที่พาณิชย์ภาค 1 ดำเนินการ ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง   แต่ยังจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภูมิภาค และการค้า การลงทุน ของผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดนขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วย”

สำหรับกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร จัดอบรมนายทะเบียนพาณิชย์ วันที่ 1 มกราคม 2560 ผู้เข้าอบรม 143 คน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม ได้จัดสัมมนาวิชาการ วันที่ 19 มกราคม 2560 เรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับยุทธศาสตร์เชื่อมโยง GMS จำนวน 1 ครั้ง ผู้เข้าอบรมจำนวน 100 ราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี จัดอบรมนายทะเบียนพาณิชย์ วันที่ 20 มกราคม 2560 ผู้เข้าอบรม 183 คน และกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคายร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง     “สร้างความพร้อมทางการค้าสู่ CLMMV วันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้เข้าอบรมจำนวน 200 คน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ได้มีการเตรียมจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ชื่องาน “มหกรรมผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS 2017” โดยได้เชิญประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ   คือ ประเทศ สปป.ลาว สส.เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา  จีน และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ในวันที่ 14 – 25 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้น

พาณิชย์ภาค 1 ประกอบด้วย กลุ่มคัลเตอร์ 3 กลุ่ม 12 จังหวัด คือ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยมีจุดเด่นสำหรับจังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร คือ 1.เป็นประตูออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีระยะทางที่สิ้นสุดในการเชื่อมต่อไปประเทศ สปป.ลาว เวียดนามและจีนตอนใต้ มีสะพานมิตรภาพ 1 (จังหวัดหนองคาย – เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพ 2 (จังหวัดมุกดาหาร – แขวงสะหวันเขต) สะพานมิตรภาพ 3 (จังหวัดนครพนม – คำม่วน) 2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย (2 อำเภอ 13 ตำบล) เนื้อที่ 296,042 ไร่  เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม (2 อำเภอ 13 ตำบล เนื้อที่ 465,493.75 ไร่ หรือ 744.79 ตารางกิโลเมตร) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร (3 อำเภอ 11 ตำบล) เนื้อที่ 361,524 ไร่ หรือ578.5 ตารางกิโลเมตร) โดยให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งด้านภาษี เรื่องแรงงาน อัตราค่าเช่าที่ดิน และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี และ 3.การคมนาคมสะดวกทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ โดยเฉพาะมีแม่น้ำโขงในการเชื่อมต่อให้ความสะดวกแก่นักลงทุน นักการค้า และนักท่องเที่ยว     ถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศถนนหมายเลข R8 , R9 ,R12 และ R13 ถนนภายในประเทศ คือ ถนนหลักคือ ถนนมิตรภาพ (กรุงเทพ – หนองคาย)