‘จรัมพร’ฝากงานดีดีคนใหม่

30 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บริษัทการบินไทย(ดีดี) จะทำงานในบริษัทการบินไทยวันสุดท้ายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ช่วงเวลาในการบริหารงานมานานกว่า 2 ปี ได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆมากมายและผลการดำเนินงานย่ำแย่หนักถึงขั้นขาดทุนสุทธิมากถึง 15,611 ล้านบาท และ 13,067 ล้านบาทในปี 2557 และ2558 ตามลำดับ จนสามารถฝ่าวิกฤตการณ์พลิกฟื้นธุรกิจมามีกำไรสุทธิ 1,476 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559

นายจรัมพรให้สัมภาษณ์ว่า รับรู้ปัญหาของบริษัทการบินไทยมาตั้งแต่วันแรกของการเข้ามารับตำแหน่งแล้ว จึงต้องเน้นเรื่องการจัดทำแผนและเร่งผลักดันให้เกิดผลทางรูปธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถลดต้นทุน ได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอจะต้องลดลงอีกประมาณ 7,000- 1 หมื่นล้านบาท และต้องเพิ่มประสิทธิภาพในหลายส่วนธุรกิจ เพื่อทำให้บริษัทฯสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“ เป้าหมายต้องลดต้นทุนให้ได้ 2 หมื่นล้านบาท ผมสามารถลดต้นทุนได้ตามแผนเปะ หลังจากปิดเส้นทางและหยุดเครื่องบิน ไม่ให้สร้างค่าใช้จ่าย ลดบุคคลากรที่ซ้ำซ้อนในปี 2558 ขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารก็ขยับขึ้นมาจากประมาณ 68% เป็นกว่า 73% และจะต้องทำให้ถึง 80% เหมือนสายการบินอื่น แต่การลดราคาไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี”จรัมพรกล่าว

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึงแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนว่า บริษัทการบินไทยมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ช่วยเพิ่มมูลค่าในหลายๆด้าน สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้ารายใหม่และการจำหน่ายตั๋วที่มีกำไร เรื่องการกำหนดราคาตั๋ว บริษัทการบินไทยมีหลายล้านราคา ทำอย่างไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน แข่งขันกับสายการบินอื่นได้ บริษัทเพิ่งจ้างเด็กใหม่เข้ามา 12 คนเพื่อมาเรียนรู้เรื่องระบบราคา ตั้งแต่แรกเพิ่อเข้ามาเสริมในจุดนี้

“เรื่องการขายตั๋ว จะต้องขายให้เป็น ขายให้เก่งและมีกำไร ทุกสถานียังสามารถหาลูกค้าใหม่มาได้ สายการบินอื่นได้ 80% การบินไทยได้ 70% เศษ ทั้งๆที่โปรดักส์เราดีกว่าคนอื่น แต่เราต้องปรับตัว จะต้องตั้งราคาที่เหมาะสม บางครั้งเราลดราคาลงโดยไม่มีเหตุผล ห้ามสู้เรื่องราคา จะต้องมีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าความเคลื่อนไหวของราคา การบินไทยมีบิ๊กดาต้า มีข้อมูลราคาตั๋วของบริษัทและคู่แข่ง รวมถึงช่วงเวลาที่ลูกค้าจองซื้อมากจนเต็ม บางช่วงมีที่นั่งว่างเยอะก็ต้องบอกลูกค้าได้ “จรัมพรกล่าว

ขณะเดียวกันฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ก็สามารถเพิ่มการให้บริการที่ดีขึ้น เมื่อต้นเดือนมกราคม2560 ได้เปิดทดสอบระบบ Integrated Route Folder (iRF) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริการผู้โดยสาร สามารถเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานให้บริการเข้าด้วยกัน สามารถให้บริการได้แบบไร้รอยต่อ และเป็นปัจจุบัน

“ในระยะแรกครอบคลุมฝ่ายบริการภาคพื้นดิน ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน ฝ่ายช่างและฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการไปสู่การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม จากการเชื่อมต่อข้อมูลไปไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น จากฝ่ายช่างและฝ่ายให้บริการภาคพื้นแบบอัตโนมัติทำให้ทราบปัญหา และแก้ไขได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมาที่ใช้การรายงานผ่านเอกสาร จะต้องรอให้คีย์ข้อมูลแล้วถึงจะทราบปัญหา

จรัมพรยกตัวอย่างการให้บริการแบบใหม่ ผู้โดยสารสามารถต่อว่าในหลายเรื่อง เช่น รสชาดอาหารไม่อร่อย รวมถึงอุปกรณ์เสีย ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกเก็บเข้าระบบ เมื่อเครื่องลงจอด มีอินเทอร์เน็ตให้ส่งข้อมูลเข้าระบบทำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทราบปัญหาและเร่งปรับปรุงได้เร็วขึ้น”

ขณะเดียวกันฐานข้อมูล ผู้โดยสาร รวมถึงการเดินทาง ประวัติ ความต้องการ เช่นชอบไม่ชอบอาหารอะไร และ ROP คาดว่าประมาณ เดือนเมษายนนี้ จะให้พนักงานบนเครื่องติดต่อลูกค้าเพื่อนำมาไมล์มาอัพเกรดที่นั่งได้ ทำให้ที่นั่งชั้นธุรกิจไม่ว่างมาก รวมถึงการนำอาหารขึ้นบนเครื่องให้เหมาะสม ลดการสูญเสียของอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผ่านมาในชั้นเศรษฐกิจเคยลดโค้กได้ถึง 140 ล้านบาท และลดขยะได้จำนวนมาก

สำหรับส่วนธุรกิจที่ปรับปรุงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น คาร์โก้ จากเดิมขาดทุนปัจจุบันมีกำไรทุกเดือน โดยไม่ต้องเพิ่มคน เพิ่มการให้บริการ แม้บางเส้นทางไม่มีก็จะรับลูกค้าและส่งต่อสายการบินอื่น รวมถึงฝ่ายการเงิน ที่มีการรีไฟแนนซ์เงินกู้ ประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท มาเป็นเงินเยน อายุ 5 ปี ภาระดอกเบี้ยลดลง จากประมาณ 4% เศษ ลงมาเหลือ 1.4% ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2559 และยังลดลงอีกในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560