เห็นอินโดฯปราบทุจริต โปรดอย่าถามหาที่ไทย…

27 ม.ค. 2560 | 12:37 น.
2546879-2

 

 

 

โดย:บากบั่น บุญเลิศ
เห็นอินโดฯปราบทุจริต โปรดอย่าถามหาที่ไทย…

ฉบับที่แล้วผมได้ทิ้งปมให้คนไทยได้ขบคิดกันว่า ทำไมอินโดนีเซียที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมากในอดีต จึงได้มี ประสิทธิภาพในการปราบคนโกงอย่างมาก

เพียงแค่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ของอังกฤษยอมรับว่า มีการจ่ายเงินสินบนในการจัดซื้อเครื่องบิน คณะกรรมการกำจัดการทุจริตอินโดนีเซีย (Komisi Pemberantasan Korupsi : KPK ) ก็ออกมาระบุว่า อดีตประธานผู้อำนวยการการูดา สายการบินแห่งชาติของอินโดฯ เป็นผู้ต้องสงสัยรับสินบน

KPK เผยอีกว่าพบหลักฐานที่ชี้ว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้รับเงินสด 53 ล้านบาท  และสิ่งของตอบแทน 70 ล้านบาท ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย

เขาสอบปุ๊บ ก็รู้ปั๊บว่า มีการจ่ายเงินกันที่ไหน จากนั้นจึงสืบสาวเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องใน 4 บัญชีหลัก

แต่ของไทยยังไปไม่ถึงไหน ข้อมูลเบื้องลึกยืนยันว่า ขณะนี้ "การบินไทยและปตท."มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา แต่ที่น่าสนใจคือมีการตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ร่วมทีมด้วย

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) นั้น "สรรเสริญ พลเจียก" เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า  ได้ประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอเรนซ์กับเอสเอฟโอของอังกฤษไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม เพื่อประสานขอข้อมูลเชิงสืบสวน กรณีการจ่ายสินบนของการบินไทยและปตท. หากชัดเจนในเรื่อง ตัวบุคคล วิธีการ และสถานที่การจ่ายสินบน จะเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป

อะไรที่ทำให้   KPK ของอินโดนีเซียทำงานรวดเร็วกระชับ ทั้งๆที่เพิ่งก่อตั้งมาในปี 2545 หลังจากที่รัฐบาลทหารของประธานาธิปดีซูฮาร์โตล้มไป

ประเด็นอยู่ที่"หลักคิด จุดยืน แนวปฏิบัติ" เเต่เดิมนั้นอินโดนีเซียมีปัญหาคอร์รัปชันหนัก จนประชาชนอินโดฯเรียกร้องให้เร่งแก้ไข จึงได้มีการจัดตั้ง KPK ขึ้น โดยใช้ตัวแบบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ แต่ KPK มีหลักการทำงาน ที่แตกต่างใน  2 ประการ
1. มีอำนาจดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องให้อัยการเป็นผู้ดำเนินการแทน
2. มีการปฏิรูปการทำงาน โดยได้จัดตั้งศาลต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาคดีคอร์รัปชันที่ KPK เห็นว่า จะฟ้องร้องได้
นับเป็นประเทศแรกในโลกก็ว่าได้ที่มีศาล เพื่อดำเนินคดีการคอร์รัปชันกับข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองเป็นการเฉพาะ ยกเว้นทหาร

ระยะเวลา 15 ปี   KPK มีผลงานน่าทึ่งมาก  ชนะคดีไป 238 คดี จับกุมผู้กระทำความผิด ทั้งข้าราชการ นักการเมืองระดับหัวกะทิกว่า 420 ราย  ครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง ผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก มีทั้งข้าราชการระดับสูง  ผู้พิพากษา นายตำรวจระดับสูง ส.ส. รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชาติอินโดนีเซีย  นายกเทศมนตรีที่เป็นลูกเขยอดีตประธานาธิบดี นางงามที่ได้เป็น ส.ส. แม้แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกดำเนินคดีจำคุก ฯลฯ

สิ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จที่สำคัญของ KPK คือ เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมืองพนักงานสืบสวนสอบสวนมีคุณภาพ มีการทดสอบด้านจิตวิทยา ความโปร่งใส ความซื่อตรง  ที่เข้มข้น

ผลงานที่โดดเด่นทำให้ KPK มีชื่อเสียงมาก คนอยากมาทำงานด้วย หลายคนมาจากตระกูลดี มีฐานะดีที่ต้องการทำความดีให้สังคม

ด้านที่มาของคณะกรรมการ KPK   ก็ถูกสร้างให้เป็น “เสือที่มีเขี้ยวเล็บ” ไม่ใช่ “เสือกระดาษ” จึงถูกออกแบบอย่างรัดกุม ยึดโยงกับประชาชน   เริ่มจากประธานาธิบดีตั้งกรรมการคัดสรรประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคมและภาครัฐผสมกัน มีหน้าที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่ง 10 คน ส่งให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งรับรองและคัดกรองเหลือ 5 คน  อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 4 ปี ด้วยกระบวนการสรรหากรรมการที่โยงกับประชาชน และภาคประชาสังคม จึงทำให้ KPK มีความชอบธรรมสูง

รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญ ขนาดข้าราชการตำรวจหากขัดแข้งกับ KPK ยังถูกย้าย…แล้วไทยล่ะครับ….ปราบกันอย่างไรมีแต่ปลาซิวปลาสร้อย…ตัวการยังไร้ร่องรอยเหมือนเดิม

คอลัมน์ ทางออก..นอกตำรา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6  วันที่ 29 ม.ค.-1ก.พ. 2560