ลุยโรงไฟฟ้า44จ.ทั่วไทย ต่ออายุคำสั่งคสช.ยกเว้นข้อบังคับผังเมือง

01 ก.พ. 2560 | 06:00 น.
เมินเสียงชาวบ้าน-นักอนุรักษ์ เดินหน้าตอกเข็มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามแผนก.พลังงาน 44 จังหวัดทั่วไทย หลังผังเมืองรวมเกือบ 50จ.ประกาศใช้ทัน 19 ม.ค. 60 ก่อนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 4/2559 หมดอายุ ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามผังเมืองไฟเขียวสร้างได้ทุกพื้นที่

เสียงต่อต้านจากชาวบ้านและนักอนุรักษ์สิ่งแวดยังดังต่อเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 4/2559 ใช้ม.44 มีผลบังคับใช้ 1 ปีตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 –19 มกราคม 2560 ปลดล็อก ให้ตั้งโรงไฟฟ้า ตามแผนกระทรวงพลังงาน ได้ทุกพื้นที่โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎผังเมืองรวม ขณะที่ รัฐต้องเร่งหาพลังงานทดแทนและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 กฎกระทรวงผังเมืองรวมได้ ประกาศใช้ อีก 18 จังหวัด รวม 49จังหวัดเหลืออีก 24 จังหวัด อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดจะประกาศครบทั้ง 73 จังหวัด ภายในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเมื่อผังเมืองบังคับใช้ กฎกระทรวงควบคุมอาคาร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็บังคับใช้ตามไปโดยปริยาย โดยจะไม่เกิดสุญญากาศ ไร้กฎหมายควบคุมเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดที่ยังไม่ประกาศใช้อีก 24 จังหวัด แยกเป็น 18 จังหวัด อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบได้แก่ ขอนแก่น ศรีษะเกษ สมุทรสาคร อำนาจเจริญ สุพรรณบุรี อุดรธานี บึงกาฬ กาฬสิน ร้อยเอ็ด เพชรบุรี ปัตตานี สมุทรสงคราม มุกดาหาร ขณะที่อีก 6 จังหวัด รอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ลงนาม ประกอบด้วยแม่ฮ่องสอนพังงา พัทลุง ชุมพร กาญจนบุรี นครพนม

แม้ทุกพื้นที่จะถูกจำกัดการพัฒนา แต่ มี 44 จังหวัด ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดผังเมืองรวมจังหวัด ตามแผนพลังงานของกระทรวงพลังงานสามารถก่อสร้างกิจการพลังงานได้ และผังเมืองรวมจังหวัดมีผลบังคับใช้ทั้งหมดภายในวันที่ 19 มกราคม 2560 หรือ ทันคำสั่งคสช. ฉบับที่ 4/2559 ที่จะหมดอายุลง เท่ากับว่า คำสั่งดังกล่าวให้ถือปฎิบัติต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เสริมว่า กิจการที่ ได้อานิสงส์ ตามผังเมือง อาทิ พลังงานทดแทน โซลาเซลล์ โรงกำจัดขยะ-บำบัดน้ำเสียที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงาน ฯลฯ ที่สามารถสามารถ ก่อสร้างได้ ทุกพื้นที่แม้ ผังเมืองจะมีข้อห้าม อาทิ พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมที่ ใช้เพื่อเกษตรกรรม เป็นหลักก็ตาม แต่ทั้งนี้ การตั้งโรงไฟฟ้า โรงงานกิจการต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานทดแทนดังกล่าว ดังกล่าว มองว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกฎหมายอื่น เช่นกฎหมายควบคุมอาคารเกี่ยวกับการเว้นระยะถอนร่นอาคาร การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การทำอีเอชไอเอ หรือ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรงกรณีกระทบต่อชุมชนและสุขภาพ การ ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คือ การตั้งโรงไฟฟ้าโรงงาน กิจการพลังงานทดแทนต่างๆ โครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ จะต้องทำประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังเสียงจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึง พ.ร.บ.ร่วมทุนเป็นต้น

ขณะที่ แหล่งข่าวจากนักอนุรักษ์ ระบุว่า เชื่อว่ากระทบต่อที่ดินเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมแน่นอน โยดเฉพาะ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งจะมีมลพิษเกิดขึ้นจากกิจการดังกล่าว

ซึ่งแผนดังกล่าว คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ พีดีพี2015 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เฟส1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และที่ตั้งของทั้ง 2โครงการ อยู่ในผังเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเดิมไม่สามารถลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นบังคับใช้ผังเมือง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560