กฟภ.แจกมิเตอร์ไฮเทคแสนราย

30 ม.ค. 2560 | 03:42 น.
กฟภ. และ กสท ผนึกกำลังลงนามแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและพัฒนาการใช้โครงข่ายสื่อสารหลัก และ ลาสไมล์ เพื่อต่อยอดเอ็มโอยูเดิมที่เน้นความร่วมมือระดับโครงข่ายสื่อสารพื้นฐานให้มีเนื้อหาครอบคลุมบริการและเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้น พร้อมแจกมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะฟรี 1 แสนราย

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เปิดเผยว่า กฟภ. และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท ร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือและพัฒนาการใช้โครงข่ายสื่อสารหลัก หรือ Backbone และ Last mile (วงจรสื่อสารสำหรับการเข้าถึงโครงข่ายระยะสุดท้าย) ฉบับเดิมให้มีเนื้อหาครอบคลุมบริการและเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสมทันเทคโนโลยี ปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบาย กฟภ. 4.0 "พัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี" เพื่อนำไปสู่ "การไฟฟ้าแห่งอนาคต" และสนับสนุนโครงการสำคัญต่างๆ ของ กฟภ. อาทิ โครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid ) ในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบสื่อสารถึงหม้อแปลงไฟฟ้าและมิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านเรือนประชาชน ในรูปของมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะผ่านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี IoT

ปัจจุบัน กฟภ. มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงติดตั้งใน 74 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อเชื่อมโยงสถานีไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมสั่งการจ่ายไฟฟ้า และสำนักงานการไฟฟ้ารวมระยะทางประมาณ 2.25 หมื่นกม. ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงข่ายจำหน่ายไฟฟ้าไปสู่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid และมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะซึ่ง กฟภ. มีแผน จะแจกให้กับประชาชน 1 แสนรายฟรี เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสื่อสารกับ กฟภ. ได้สะดวก รวมทั้งสามารถทราบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของตัวเองและนำมาซึ่งการประหยัดไฟฟ้าต่อไป โดยในอนาคตอาจขยายโครงการ ดังกล่าวไปใช้ทั่วประเทศ

ด้าน พ.อ. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ กสท กล่าวว่า กสท พร้อมร่วมมือกับ กฟภ. โดยศักยภาพของบริษัท สามารถจะนำระบบเทคโนโลยีสื่อสาร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินโครงการบริการของ PEA ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม ไม่ว่าด้านระบบสื่อสัญญาณ บริการ อินเตอร์เน็ต,อินเตอร์เน็ตออฟทิงส์, ระบบคลาวด์ พร้อมศูนย์ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลระดับ TSI Certificate (Trusted Site Infrastructure certificate) Level 3 เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยซึ่งสามารถรองรับเป็น DR Site สมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น CAT จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบอื่นๆ ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการให้บริการประชาชนของ PEA เช่น ระบบ Smart Home รองรับแนวคิดบ้านประหยัดพลังงาน และระบบ IPTV ฯลฯ

ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าความร่วมมือหลักในด้านโครงข่ายสื่อสาร กสท มีความสนใจที่จะเช่าใช้คอร์ไฟเบอร์ของ กฟภ. เป็นเส้นทางสำรองและเสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายสื่อสารของ กสท โดยที่จะไม่ต้องลงทุนวางโครงข่ายเพิ่มซ้ำซ้อนกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560