คปภ.เพิ่มมาตรการเยียวยาน้ำท่วมใต้ “ตั้งศูนย์-เพิ่มชุดโมบายเคลื่อนที่”

27 ม.ค. 2560 | 04:20 น.
คปภ.เพิ่มมาตรการเยียวยาน้ำท่วมใต้ “ตั้งศูนย์-เพิ่มชุดโมบายเคลื่อนที่” สั่งด่วนสำนักงานคปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์) – ภาค 9 (สงขลา) เป็นศูนย์ดำเนินการช่วยเหลือ ย้ำให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมเพื่อป้องกันการเอาเปรียบประชาชนที่เดือดร้อน

ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี  ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดยังมีน้ำท่วมขังและหลายจังหวัดถูกน้ำท่วมเป็นระลอกที่ 2  ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาตรการ 7 ข้อ ด้านประกันภัยเพื่อเป็นการใช้ระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้แล้ว  และจากการที่ตนได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมทั้งได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยสรุปรายงานความเสียหาย การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ส่งให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคปภ.ทุกวันศุกร์ เพื่อประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัยของผู้ประสบภัย  ประสานงานการสำรวจภัย และการประเมินความเสียหาย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ประสานติดตาม  เร่งรัด ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

โดยข้อมูลล่าสุด (วันที่  26 มกราคม 2560) พบว่ามีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน 1,856 รายการ ประเมินความเสียหาย  559,961,758 บาท  โดยรถยนต์ที่ทำประกันภัยได้รับความเสียหาย 1,631 คัน ประเมินความเสียหาย 139,272,122 บาท  ประกันภัยการเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR)  104 ราย ประเมินความเสียหาย409,164,593 บาท  ประกันอัคคีภัย (ที่อยู่อาศัยที่ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม) 69 ราย  ประเมินความเสียหาย 3,911,334 บาท  ประกันอัคคีภัย (อาคารพาณิชย์/SME) 49 ราย ประเมินความเสียหาย 7,363,708 บาท ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ (PA) 3 ราย ประเมินความเสียหาย 250,000 บาท

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)  กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมและกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต  ฉะนั้นขอให้ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบกรมธรรม์ด้วยว่าเป็นแบบใดและคุ้มครองเพียงใด ซึ่งหากมีข้อสงสัยให้ประสานงานกับบริษัทที่รับประกันภัยหรือสายด่วน คปภ. 1186 โดยอย่าหลงเชื่อคำแอบอ้างใดๆทั้งสิ้น

ทั้งนี้จากข้อมูลความเสียหายในครั้งนี้จะเห็นได้ว่ารถยนต์ที่ทำประกันภัยได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมพร ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นระลอกที่ 2 ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการชักลากรถยนต์ออกจากพื้นที่เพื่อนำรถยนต์ไปซ่อมในจุดที่ให้บริการซ่อมรถยนต์  ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และ สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา)  ตั้งศูนย์ประสานงานและจัดชุดโมบายเคลื่อนที่ โดยสำนักงานคปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) ให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยในทุกจังหวัดที่รับผิดชอบ และให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปดำเนินการร่วมกับสำนักงานคปภ.จังหวัดชุมพรและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนสำนักงานคปภ.ภาค 9 (สงขลา) ให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยในทุกจังหวัดที่รับผิดชอบ รวมทั้งให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปดำเนินการร่วมกับสำนักงานคปภ.จังหวัด โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานคปภ.ภาค 9 เป็นหัวหน้าทีมหน่วยเคลื่อนที่ไปปฏิบัติงานร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคปภ.จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกชุดให้จัดทีมหน่วยเคลื่อนที่ โดยให้ไปดำเนินการร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคปภ.จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ในพื้นที่น้ำท่วมติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดโดยรายงานต่อเลขาธิการคปภ.โดยตรง และหากมีปัญหาข้อข้องใจในทางปฏิบัติให้ประสานงานโดยตรงกับเลขาธิการ คปภ.  ทั้งนี้ในเรื่องของการเคลมค่าสินไหมทดแทนให้กับประชาชนจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยการซ่อมรถยนต์ให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ  ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 15 รายการ เช่น ตรวจสอบแบ็ตเตอรี่ (ถอดขั้ว/ตรวจสอบน้ำกลั่น/ไฟ-ชาร์ท) ทำความสะอาดตัวรถ ล้าง-อัด-ฉีด ขัดสี ถอดเบาะนั่ง หน้า-หลัง  ถอดคอนโซลกลาง (คันเกียร์) ถอดพรมในเก๋ง-ซักล้าง-ตาก-อบแห้ง ถอดคันเร่ง  (รถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและเซ็นเซอร์) ถอดลูกยางอุดรูพื้นรถและทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดห้องเครื่อง-เป่าแห้ง ตรวจสอบทำความสะอาดระบบเบรก 4 ล้อ/ผ้าเบรก ทำความสะอาดสายไฟ-ปลั๊กไฟด้วยน้ำยาเคมีภัณฑ์ ตรวจสอบชุดท่อพักไอเสีย (แคทธาเรติค)

ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000 -20,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 26 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก 15 รายการในระดับ A คือ การถ่ายน้ำมันเครื่อง-เกียร์-เฟืองท้าย  กรองน้ำมันเครื่อง- กรองอากาศ-กรองเบนซิน-กรองโซล่า ตรวจระบบจุดระเบิด หัวเทียน จานจ่าย หัวฉีด ตรวจสอบชุดเพลาขับ ถอดทำความสะอาดแผงประตูทั้ง 4 บาน ตรวจชุดสวิทซ์สตาร์ท-กล่องควบคุมไฟ- กล่องฟิวส์ ถอดทำความสะอาดไล่ความชื้นระบบเข็มขัดนิรภัย  ถอดทำความสะอาดชุดมอเตอร์ยกกระจกไฟฟ้า ตรวจสอบทำความสะอาดเบาะ ถอดทำความสะอาด(ไดร์สตาร์ทและไดร์ชาร์จ) เพื่อไล่ความชื้น

ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท  มีรายการที่ต้องดำเนินการ 39 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A และ B คือ ตรวจสอบชุดอีโมไรท์เซอร์/ระบบ GPS (ที่ติดมากับรุ่นรถ) ตรวจสอบไล่น้ำออกจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี ห้องเผาไหม้ ตรวจสอบลูกปืนไดชาร์ท ลูกรอก ตรวจสอบทำความสะอาดระบบไฟส่องสว่าง (ไฟหน้า-ท้าย-เลี้ยว) ตรวจเช็คระบบขับเลี้ยวไฟฟ้า ถอดตรวจเช็คตู้แอร์ มอเตอร์ โบวเวอร์ เซ็นเซอร์ ถอดหน้าปัดเรือนไมล์ เกจ์ ถอดตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและสายไฟขั้วต่างๆ ตรวจเช็คระบบเครื่องเสียง-วิทยุ-แอมป์-ลำโพง ตรวจเช็คระบบเบรก (ABS) ตรวจชุดหม้อลมเบรก/ แม่ปั้มบน-ล่าง ตรวจสอบลูกปืนล้อ-ลูกหมาก-ลูกยางต่างๆ ผ้าหลังคา/แมกกะไลท์ ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป มีรายการที่ต้องดำเนินการ 40 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A – C มา 1 รายการ คือ ทำสี (กรณีสีรถได้รับความเสียหาย) ซึ่งในกรณีนี้ทางบริษัทผู้รับประกันภัยอาจพิจารณาคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยก็ได้  และระดับ E  รถยนต์จมน้ำทั้งคัน  ซึ่งในกรณีนี้บริษัทผู้รับประกันภัยจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัยสถานเดียว

นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ คปภ. เร่งให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมและมีประกันภัย เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกซ้ำเติมจากระบบประกันภัย รวมทั้งได้กำชับไปยังบริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม