กลุ่มทีพีไอ โพลีน คาดทยอย COD โรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 โรงภายในปีนี้ 

26 ม.ค. 2560 | 08:28 น.
กลุ่มทีพีไอ โพลีน เปิดอาณาจักรธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งของ ‘บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์’ หรือ ‘TPIPP’ ในจังหวัดสระบุรี ที่กำลังเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงินของกลุ่มทีพีไอ โพลีน เผยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โรง และอยู่ระหว่างลงทุนขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง คาดว่าจะแล้วเสร็จทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ COD (Commercial Operation Date) ภายในปีนี้ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นจาก 150 MW ในปัจจุบัน เป็น 440 MW

นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ในฐานะบริษัทแม่ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP  เปิดเผยว่า TPIPL วางแผนนำ TPIPP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยเน้นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ พลังงานความร้อนทิ้ง เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ในไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่ม แบ่งแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าจากบริษัทแม่ให้ชัดเจน และเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยลดภาระหนี้สินของกลุ่มทีพีไอ โพลีน อีกทั้ง TPIPP จะสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนและตลาดเงิน ส่งผลให้มีช่องทางการระดมทุนเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนมูลค่ากิจการที่แท้จริงของ TPIPP ซึ่งถือหุ้นโดย TPIPL ด้วย เนื่องจากราคาหุ้นของ TPIPP จะมีราคาตลาดอ้างอิงที่ชัดเจน
ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน TPIPP กล่าวว่า ปัจจุบันTPIPP มีโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ใน จ. สระบุรี ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จ และเริ่ม COD ภายในปีนี้ โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นอีก 290 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน-พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน กำลังการผลิตติดตั้ง 150 MW ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้ TPIPP มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 440 MW

ในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW มีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ TPIPP จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปรวมกับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งกำลังการผลิต 30 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 MW โดย TPIPP จะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี

ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น เมื่อแล้วเสร็จจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดียวกับที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน TPIPP กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 4 โรงในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 20 MW และ 60 MW ซึ่งตามข้อมูลของ AWR Lloyd ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปัจจุบันมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MW (ได้รับ Adder ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งอีก 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 40 MW และ 30 MW โดยมี TPIPL เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า (ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ.)

ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน-พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถูกออกแบบให้มีความพิเศษ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งถ่านหิน และเชื้อเพลิงจากขยะ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะโรงอื่นๆ จำเป็นต้องหยุดซ่อมบำรุง ก็สามารถใช้โรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อจำหน่ายให้แก่ กฟผ. ทดแทนกันได้

“เราได้เตรียมความพร้อมรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่เริ่ม COD แล้ว โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับขยะจากชุมชน และขยะหลุมฝังกลบ เข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะทำให้ TPIPP สามารถนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงจากขยะที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

ด้วยแนวคิด Clean Energy and Clean Up Country กลุ่มทีพีไอโพลีนจึงเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (WTE : Waste to Energy) ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในประเทศที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน และยังสามารถลดภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายวรวิทย์ กล่าว