มองอินโดฯ ล้างทุจริต ให้เอือมระอาเรา

25 ม.ค. 2560 | 10:36 น.
 

2546879-1

 

 

 

โดย : บากบั่น บุญเลิศ

มองอินโดฯล้างทุจริต ให้เอือมระอาเรา

ขณะที่ประเทศไทยกำลังสาละวนอยู่กับการแสงความคิดเห็น  ก้มหน้าก้มตาตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวการทุจริตรับสินบนก้อนโตร่วม 7,000 ล้านบาท จากบริษัท โรลสรอยซ์ ของพนักงาน ผู้บริหารและนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมซื้อเครื่องบิน และเครื่องจักรกล ของบริษัท การบินไทย และกลุ่มบริษัท ปตท. มาเป็นระยะเวลากว่า 7 วัน และดูทีท่าว่าจะจับมือใครดมไม่ได้

แต่ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านของไทย อากุส ราฮาร์โด ประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซีย (Komisi Pemberantasan Korupsi : KPK ) ออกมา ระบุว่า เอมีร์ชาห์ ซาตาร์ อดีตประธานผู้อำนวยการการูดา สายการบินแห่งชาติ ของอินโดนีเซียเป็นผู้ต้องสงสัยของคดีรับสินบนในการจัดซื้อจากโรลส์รอยซ์   และเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2560 หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันแห่งนี้ได้ส่งทีมเข้าตรวจค้นสถานที่ 4 แห่งในกรุงจาการ์ตา  เพื่อสืบสวนคดีการรับสินบน โดยมีการสาวไปถึงจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ที่อาจถึงหลักหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เป็นการดำเนินการแบบทันท่วงที คล้อยหลังผู้พิพากษาศาลฎีกาของอังกฤษ ตัดสินคดีบริษัทโรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนเพื่อให้ได้ขายเครื่องยนต์อากาศยาน โดยระบุว่า มีการคอร์รัปชันในอินโดนีเซีย โดยทางโรลสรอยซ์ได้จ่ายเงินแก่ใครบางคน 2.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรถยนต์โรลส์-รอยซ์ 1 คัน เป็นเงินรางวัลสำหรับการสนับสนุนให้สายการบินแห่งชาติการูดา ใช้เครื่องยนต์เทรนต์ 700 ของโรลส์รอยซ์ โดยมีการจ่ายเงินกันที่สิงคโปร์

มองดูการทำงานของเขา เทียบกับปฏิบัติการในบ้านเราแล้ว เห็นอะไรกันบ้าง!

รัฐบาลไทยอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ประชาชนคนไทยต่างตระหนักได้ดีว่า ขั้นตอนและกระบวนการปราบปรามการทุจริตของไทยไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ขนาดศาลอังกฤษระบุชัดว่า พบหลักฐานการจ่ายเงินก้อนโตให้กับใคร อย่างไร ปีไหน รัฐบาลไทยกลับออกมาประกาศว่า ได้สั่งให้การบินไทยเร่งตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน หากผลตรวจสอบพบว่ามีผู้บริหาร ที่เกษียณอายุ หรือนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดไม่มีข้อยกเว้น
“แต่เราต้องรอผลสรุปออกมาให้ชัดเจนก่อน และกระทรวงคมนาคมยังไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้อีก เนื่องจากเป็นเรื่องภายในของการบินไทยและอยู่ใต้อำนาจสั่งการของบอร์ด" อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ

ครั้นจะหันหน้าไปพึ่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ดูเหมือนจะฝันสลาย เมื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.  บอกว่า ได้ให้สำนักการต่างประเทศของป.ป.ช.ประสานกับ ป.ป.ช.ของอังกฤษ เพื่อขอข้อมูลมาตรวจสอบ ประสานกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐฯ และมอบสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ประสานกับบริษัทการบินไทย เพื่อตรวจสอบ ข้อมูลด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณารายละเอียดจริงๆ อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะบางเรื่องอาจจะขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งหากขาดอายุความ จะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

ประธาน ป.ป.ช. ยังบอกอีกว่า ยังต้องไปดูรายละเอียดในกรณีที่ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับสินบนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วย เนื่องจากกฎหมายป.ป.ช.กำหนดระยะเวลาที่ป.ป.ช.สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยเหตุอันควรสงสัย หรือมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และถ้ามีกรณีนี้เกิดขึ้นจริง แล้วการบินไทยเสียหายก็อาจจะต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับป.ป.ช.

แปลไทยเป็นไทยว่า ป.ป.ช.ของไทย ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีใครมาร้องทุกข์กล่าวโทษ

คำถามตัวโตๆ ที่คาใจคนไทยคือ ทำไม กฎหมายไทยทำอะไรกับคนที่ทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐไม่ได้ แต่ทำไมหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของต่างประเทศทำได้อย่างเฉียบขาด…

ฉบับหน้า ผมจะชี้โพรงให้เห็นกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช.อินโดนีเซีย ที่ตั้งไข่ขึ้นมาในช่วงปี 2546 หลังพ้นยุครัฐบาลซูฮาร์โต้ แต่มีการทำงานอย่างเข้มข้น จน KPK ได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 2556 และได้รับการโหวตจากประชาชนอินโดนีเซียหลายปีติดต่อกันให้เป็นองค์กรสาธารณะที่น่าเชื่อถือศรัทธามากที่สุด

คอลัมน์ ทางออก นอกตำรา /หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับวันที่ 26-28 มกราคม 2560