กทม.ระบุลิฟท์ผู้พิการรถไฟฟ้า สร้างเสร็จ 3-4 สถานีแรก มี.ค.นี้ เข้มงวดเชือด "ขี่จยย.บนทางเท้า"

23 ม.ค. 2560 | 13:00 น.
วันที่ 23 ม.ค. 60-พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงข่าวผลการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานการประชุมว่า กรณีการก่อสร้างลิฟท์สำหรับผู้พิการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าล่าช้านั้น กทม.ต้องขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันกทม.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด โดยได้จัดสรรงบประมาณ 350 ล้านบาท ในการก่อสร้างลิฟท์สำหรับผู้พิการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 24 ส.ค.2559

แต่ขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างลิฟท์แล้วเสร็จเพียงบางส่วนและยังเหลืออีก 19 สถานี ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีข้อขัดข้องบางประการ โดยเบื้องต้นทราบว่า บางส่วนเกิดจากเรื่องของสถานที่ก่อสร้าง บางส่วนมีปัญหาในการขุดเจาะไปเจอสาธารณูปโภคก็ต้องย้ายที่ใหม่ และผู้รับเหมาแจ้งว่ามีเวลาในการดำเนินการค่อนข้างน้อยเพียง 3 – 4 ชั่วโมง/วัน

“จากนี้ กทม.จะตั้งผู้ตรวจราชการกทม. มาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเป็นเหตุสุดวิสัยจะเร่งดำเนินการแก้ไข แต่หากพบว่า เป็นความบกพร่องของผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้รับเหมาหรือในส่วนของกทม. ก็จะดำเนินการตามระเบียบต่อไป โดยจากที่ได้มอบหมายให้สำนักการจราจร และขนส่งจัดทำโรดแม็ปการดำเนินงาน ปรากฏว่า ในช่วงเดือน มี.ค.2560 จะมีเสร็จบางส่วน 3 – 4 สถานี และจะทยอยเสร็จเรื่อยๆ เป็นระยะ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปลายปี 2560” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการคืนทางเท้าในกทม. ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนนั้น กทม.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากมีการจัดระเบียบผู้ค้ายกเลิกจุดผ่อนผันต่างๆ ปรากฏว่า บางพื้นที่มีผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะใน 6 ถนนที่มีจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้ามากที่สุด ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 ถนนเพชรบุรี ถนนพหลโยธิน ถนนรัชดาภิเษก และถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขต ติดตั้งป้ายและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงข้อห้ามดังกล่าว หากพบพื้นที่ไหนยังปล่อยให้มีจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้าเเละประชาชนพบเห็น เมื่อตนได้รับเรื่องร้องเรียนเเละมีหลักฐานชัดเจน จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ หากตรวจพบจะมีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตนั้นๆ

“ส่วนกรณีวินจักรยานยนต์รับจ้างที่ตั้งอยู่บนทางเท้า ให้ใช้พื้นที่เป็นเพียงที่ตั้งวินเท่านั้นไม่อนุญาตให้จักรยานยนต์รับจ้างวิ่งบนทางเท้าเช่นเดียวกัน ซึ่งหากพบเห็นประชาชนหรือจักรยานยนต์รับจ้างวิ่งบนทางเท้า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับปรับตามกฎหมายต่อไป”รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรื่อง การปรับสภาพแวดล้อมสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพิ่มความปลอดภัย 234 จุด ทั่วกรุง ตามที่บช.น. ได้ขอให้กทม.ปรับสภาพแวดล้อมบริเวณและพื้นที่รกร้างต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเป็นการป้องกันการเกิดอาชญากรรมสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน จำนวน 234 จุด แบ่งเป็น กลุ่มกรุงธนเหนือ 16 จุด กลุ่มกรุงธนใต้ 36 จุด กลุ่มกรุงเทพเหนือ 51 จุด กลุ่มกรุงเทพใต้ 55 จุด กลุ่มกรุงเทพกลาง 32 จุด และกลุ่มกรุงเทพตะวันออก 44 จุด

"กทม.จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ดำเนินการ อาทิ การตัดหญ้า การปรับภูมิทัศน์ การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นการช่วยเพิ่มความสวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนยิ่งขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน"