รถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงสมุทรปราการ-บางปู

24 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ที่มีมติเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในระยะเวลา 20 ปีแรก(เปิดบริการภายในปี 2572) จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 503 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะเป็นการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการรถไฟฟ้า และเพิ่มปริมาณผู้โดยสารของทั้งระบบ ปัจจุบันช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

แนวเส้นทางช่วงสมุทรปราการ-บางปู เริ่มต้นจากบริเวณสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้งซึ่งเป็นพื้นที่โรงจอดและซ่อมบำรุง วิ่งไปตามแนวเกาะกลางของถนน โดยจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ก่อนถึงแยกถนนตำหรุ-บางพลี ประมาณ 500 เมตร รวมระยะทาง 9.2 กิโลเมตร รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีแผนเริ่มก่อสร้างในปีนี้และให้บริการประมาณปี 2564

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้มีจำนวน 5 สถานี ได้แก่ E24 สถานีสวางคนิวาส (ช่วงซอยเทศบาลบางปู 59 ใกล้กับสวางคนิวาส ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย) E25 สถานีเมืองโบราณ(ซอยเทศบาลบางปู 65 เมืองโบราณ) E26 สถานีศรีจันทร์ประดิษฐ์ (ซอยเทศบาลบางปู 96 ทางเข้าวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์) E27 สถานีบางปู(ซอยเทศบาลบางปู 77 ทางเข้าสถานตากอากาศบางปูและนิคมอุตสาหกรรมบางปู) E28 สถานีตำหรุ(ซอยเทศบาลบางปู 108 ก่อนถึงแยกถนนตำหรุ-บางพลี ประมาณ 500 เมตร)

โครงการดังกล่าวนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังมีนโยบายเร่งรัดเช่นเดียวกับช่วงคูคต-ลำลูกกาซึ่งหากรวมทั้ง 2เส้นทางจะมีวงเงินลงทุนรวม 25,690 ล้านบาท คือจากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 13,701 ล้านบาท และช่วงคูคต-ลำลูกการะยะทาง 7 กิโลเมตร เงินลงทุน 11,989 ล้านบาท โดยมีแผนจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการเพื่อประมูลและก่อสร้างในปี 2560 นี้

ความคืบหน้าขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนปรับกรอบวงเงินค่าก่อสร้างใหม่ให้เป็นราคาปัจจุบัน เนื่องจากวงเงินที่ระบุไว้นั้นได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นจะเร่งสรุปรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบต่อไป เนื่องจากทั้ง 2 โครงการมีการออกแบบรายละเอียดและการศึกษาสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หาก ครม.อนุมัติสามารถเปิดประมูลก่อสร้างได้ทันทีในปี 2561

ดังนั้นประชาชนในพื้นที่สมุทรปราการที่จะเดินทางเข้ามายังเขตชั้นในเมืองกทม. คงต้องอดใจรอสักนิดเพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งเปิดให้บริการจากสถานีแบริ่ง-สำโรงช่วงเดือนมีนาคมนี้ จะช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้นก่อนที่จะทยอยเปิดให้บริการจนครบทุกสถานีต่อเนื่องกันไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560