ล้างความคิด 3.0 รับยุคใหม่ ‘โซเชียล คอมเมิร์ซ’

26 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
อีกไม่นาน E-Commereจะกลายเป็นคำที่ล้าสมัยในโลกดิจิตอล และจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า Social Commerce ที่จะเป็นแพลตฟอร์มหลักในการค้าขาย ตอบรับกับยุค Digital is all Around โลกไม่ได้หมุนรอบตัวคุณ แต่ดิจิตอลต่างหากที่หมุนรอบโลก

สถิติประชากรไทยที่เข้าถึงและเสพ Social Media กันอย่างงอมแงม ชี้ให้เห็นว่า Social Media ไม่ใช่ปัจจัยที่ 6 ปัจจัยที่ 7 หรือ ปัจจัยที่ 8 ของการดำรงชีพ แต่กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้

ปี 2558 คนไทยใช้ Facebook จำนวน 41 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17% คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของจำนวนประชากรไทย อันดับ 2 Line จำนวน 33 ล้านคนอันดับ 3Instagram จำนวน 7.8 ล้านคน โต 74% มียอด Active User 1 ล้านราย twitter 5.3 ล้านราย active user 1.2 ล้านคน โต 18%และคนไทยซื้อขาย E-Commerce ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆถึง 44% ของจำนวนประชากร

Social Commerce ยังเป็นเซ็กเตอร์เดียวที่โตได้ โตดี โตไม่มีตกสวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกรวมทั้งไทย ผลสำรวจ Google และ Temasek คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดิจิตอลไทย จะมีมูลค่าถึง 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.33 ล้านล้านบาท หรือ 6.5 เท่าของมูลค่าตลาดในปัจจุบัน

[caption id="attachment_126321" align="aligncenter" width="503"] กรณ์ จาติกวณิช กรณ์ จาติกวณิช[/caption]

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานสมาคมฟินเทคไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุว่า ความท้าทายของไทยทัศนคติที่ยังไม่ปรับทั้งโหมดเพื่อรับมือกับ Social Commerce โดยทัศนคติของภาครัฐที่ผลักดันไทยไปสู่ 4.0 แต่แนวคิดยังเป็น 3.0 คงไปได้ยาก ขณะที่สถาบันการเงินไทยยังประเมิน Financial Technology หรือ Fin tech ว่าเป็นคู่แข่งมากกว่าพันธมิตร

“การมองทุกอย่างเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรู เป็นความคิดยุคเก่า เป็น Zero Sum Game ที่ทุกอย่างต้องมีคนได้คนเสีย เป็นเรื่องเก่าล้าสมัยใช้ไม่ได้ ยุคนี้ต้องเป็นยุค Sharing Economy ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือ แบ่งปัน ไม่สนใจว่าใครลอกใคร ต้องคิดแค่ใครทำได้ดีกว่ากัน ทุกคนจะได้หมด เพียงแต่ใครจะได้มากได้น้อย”

กรณ์ ยังได้แนะนำถึงหัวใจสำคัญในยุคนี้ คือ “การที่คุณต้องอยู่ในที่ลูกค้าประสงค์จะอยู่” หน้าที่ของธุรกิจจึงต้องใกล้ชิดลูกค้าไว้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกรณีการเปิดสาขาของธนาคาร ด้วยประสงค์เดียว คือการใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากที่สุด

ในดีตธนาคารขนาดใหญ่เปิดสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ต้นทุนการระดมเงินฝาก และการปล่อยสินเชื่อได้เปรียบธนาคารเล็ก พัฒนาการต่อมาคือการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ที่นอกจากต้อง การใกล้ชิดครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว ยังต้องการเพิ่มเวลาด้วย

ยุคเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก คือการเข้าของธนาคารซีไอเอ็มบี ที่มาซื้อกิจการไทยธนาคาร และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ผ่านไปปีเดียวซีไอเอ็มบีไทยปิดสาขาลงมาครึ่งหนึ่ง เหลือ 30 สาขา และเปลี่ยนไปใกล้ชิดลูกค้าผ่านสมาร์ทโฟนแทน

“เมื่อถึงวันหนึ่งที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย และมีความเชื่อมั่น วันนั้นความเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ โบรกเกอร์ ก็ไม่มีความจำเป็น และจะหายไปในที่สุด”

กรณ์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจกับคำถามเมื่อคนไทยให้ความเชื่อมั่นกับ Social Commerce แต่ทำไมระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลผลักดันอย่าง Promt Pay จึงมีคำถามตามมามากมายว่า

“เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์หรือโปรดักต์ใหม่ๆที่จะออกมาในโลกโซเชียล จะต้องได้รับการทดลอง ทดสอบ พัฒนา และผู้บริโภคได้รับรู้มาระดับหนึ่ง เช่น Google เมื่อจะออกผลิตภัณฑ์ใด จะต้องผ่านทดลองจากผู้ใช้ในสนามทดลองไม่ต่ำกว่า 25 ล้านราย”

กรณ์ แนะนำว่า เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ไทยจะต้องมีสนามทดลองและทดสอบผลิตภัณฑ์ (Sand BoX) เพื่อเป็นด่านทดสอบผลิตภัณฑ์ให้กลุ่มผู้เริ่มธุรกิจใหม่(Start Up) อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่ Social commerce ไทย จะถูกกลืนกินจาก Start Up ต่างชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560