กระทรวงอุตฯมั่นใจกฎหมายอีอีซี ประกาศใช้ภายในครึ่งปีแรก ติดปีกอุตสาหกรรมใหม่

20 ม.ค. 2560 | 09:40 น.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าเพิ่มเติมของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC ) ว่า ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและหากเป็นไปตามแผนจะสามารถประกาศใช้ได้ช่วงเดือนเมษายน 2560 หรืออย่างช้าภายในครึ่งปีแรก

“EEC จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนไม่แพ้โครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ซึ่งภาคเอกชนกำลังรอดูความชัดเจนของภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่คาดการณ์ว่าในระยะแรกจะมุ่งขยายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในนิคมฯบริเวณพื้นที่อิสเทิร์นซีบอร์ดเดิม คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

และระยะต่อไปจะมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ กลุ่มยานยนต์อนาคต และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และกลุ่ม New-S-Curve ได้แก่ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มนวัตกรรม กลุ่มการแพทย์ครบวงจร กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งหากมีอุตสาหกรรมเต็มศักยภาพจะมีพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ และก่อให้เกิดเงินลงทุนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท” นายอุตตม กล่าว

แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2560-2564 ที่ทางภาครัฐตั้งใจผลักดันมีวัตถุประสงค์คือ 1.ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 2.เพิ่มฐานภาษีของรัฐบาลให้ใหญ่ขึ้น 3.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 4.ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน และมีเป้าหมายสำคัญ คือ เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคนต่อปี และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา-จะเป็นเมืองน่าอยู่รองรับการขยายของกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก, ชลบุรี-จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ ศรีราชา-แหลมฉบัง จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตสมัยใหม่ ซึ่งเชื่อมสู่การผลิตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน พัทยา-สัตหีบ จะเป็นเมืองการท่องเที่ยวและสันทนาการระดับโลก อู่ตะเภา   จะเป็นศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์ มาบตาพุด-ระยอง จะเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในอาเซียน มีอุตสาหกรรมสะอาด เช่น พลังงาน เคมีชีวภาพ วิจัยอาหาร และ Bioeconomy.