เรดดี้แพลนเน็ตพันธมิตรอาลีบาบา ติดปีก 'เอสเอ็มอี'สู้รายใหญ่

24 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
เรดดี้แพลนเน็ตถือว่าเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปในลำดับต้น ๆ ในประเทศไทยจากสมาชิก 100 เว็บไซต์เพิ่มเป็น1,000 และ 1 หมื่นเว็บไซต์ ตามลำดับ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา “อาลีบาบา” แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนผู้บริการสมัครสมาชิกรายแรกในประเทศไทย

อย่างล่าสุด ธนาคารทหารไทย หรือ TMB จับมือกับอาลีบาบา ผ่านบริษัท เรดดี้แพลเน็ต จำกัด ขยายช่องทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไปยังตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายบุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจดังต่อไปนี้

 ยุทธศาสตร์

ปีนี้เน้นเรื่องให้ เอสเอ็มอี (อุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดเล็ก) ต่อสู้ได้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะว่าไม่เช่นนั้นรายใหญ่ครองตลาด เนื่องจากบรรดาห้างสรรพสินค้าจากเดิมที่เคยทำแต่ออฟไลน์ตอนนี้รุกมาเปิดช่องทางออนไลน์ ถ้าเกิดสมมุติรายเล็กอยากจะขายของออนไลน์ต้องมีจุดแข็ง ต้องมีช่องทางออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊กและ แอพพลิเคชัน เป็นของตัวเอง

 เป้าหมาย

ปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจ คือ กูเกิล,ไป่ตู๋,อาลีบาบา และ เฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวน 1.6หมื่นธุรกิจ แบ่งเป็นใช้บริการเว็บไซต์จำนวน 1 หมื่นเว็บไซด์ และ โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก และ กูเกิล

อย่างไรก็ตามจำนวนฐานลูกค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นในปีนี้คาดว่าลูกค้าใหม่จะไม่เพิ่มมากนัก แต่จะไปเน้นลูกค้าออฟไลน์ เช่น กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมโรงงาน เช่น จำหน่ายสินค้าให้ยี่ปั๊ว และ ซาปั๊ว จำหน่ายสินค้าโดยตรงผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ให้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

 ความร่วมมือกับอาลีบาบา

บริษัทเป็นผู้ประกอบการรายแรกในเมืองไทยที่ อาลีบาบา แต่งตั้งอย่างเป็นทางเพื่อขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอี ในเมืองไทยไปยังตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งทำหน้าที่ในการโพสต์สินค้า รวมไปถึงบริการลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อผ่านแพลตฟอร์มของ อาลีบาบา และ จนล่าสุดได้มีการเจรจากับทีเอ็มบี เพื่อเข้ามาสู่โซลูชั่นทางด้านการเงินให้ครบวงจร อาลีบาบา เป็นแพลตฟอร์มอันหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออก

 คาดหวัง

คาดว่าการร่วมมือกับทีเอ็มบี ครั้งนี้ คาดว่ามีลูกค้าเข้ามาสมัครใช้บริการ 500 ราย และ แพ็กเกจ โกลด์เมเมอร์ อยู่ที่ 5.6 หมื่นบาท รวมเอาสินค้าไปลงในประการเว็บไซต์ของ อาลีบาบารวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาเว็บไซต์ ก่อนหน้านี้เฉพาะลูกค้าที่เข้ามาสมัครใช้ผ่านแพลตฟอร์ม อาลีบาบา จำนวน 500 ราย

 ลูกค้าสมัคร

ขณะนี้ยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกไทยที่มีจำนวนทั้งสิ้น 3-4 หมื่นราย แต่ปัจจุบันใช้ออนไลน์ไม่ถึง 10% และ เชื่อว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% จะเข้ามาใช้ระบบดิจิตอล ซึ่งเรทดี้แพลนเน็ตเป็นพลังอันหนึ่ง ที่เป็นผู้ประกอบการรายแรกในไทยที่ อาลีบาบา เลือกเป็นช่องทางสู่ประตูการค้าโลก

 รายได้

สำหรับรายได้นั้นจะได้ค่าการตลาดจาก อาลีบาบา

มูลค่าตลาด

มีการประเมินจาก เอ๊ดด้า (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ธุรกิจกับคอนซูเมอร์อยู่ที่ 6-7 แสนล้านบาท และ ธุรกิจกับธุรกิจอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท แต่เป็นในประเทศมากกว่าต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกยังใช้ช่องทางแบบดั้งเดิมในการแสดงสินค้า แต่ตอนนี้เริ่มหันมาใช้ดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น หาก เอสเอ็มอี ใช้ระบบออนไลน์จะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ส่งออกนำระบบออนไลน์ไปใช้งานและประสำความสำเร็จ คือ ผลไม้แช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง และ ยาหม่อง เป็นต้น

 พลิกปูน

บุรินทร์ เกล็ดมณีจบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ(MBA Finance) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย

ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรปริญญาโทRetail to E-commerceวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หลักสูตรปริญญาโทและตรี ด้านศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิทยากรด้านการตลาดดิจิตอลเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ และการค้าระหว่างประเทศ ตามสถาบันชั้นนำของทั้งภาครัฐและเอกชน

ประสบการณ์การทำงาน ผู้จัดการทั่วไป ด้านการจัดการและการพัฒนาองค์กร การนำเทคโนโลยีงานด้านการค้าปลีก การตลาดและการจัดจำหน่าย มาใช้ในการเพิ่มยอดขายและการสร้างกำไร ในการดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 7-eleven และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) วิศว กรอาวุโส ด้านการออกแบบและจัดการเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560