เผยแพคเกจช่วยผู้ประกอบการน้ำท่วมภาคใต้  ธพว.พักชำระหนี้– สินเชื่อฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ 5 แสนบาท/ราย

18 ม.ค. 2560 | 09:47 น.
นายสมชาย  หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ ว่า หน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงฯได้สำรวจความเสียหาย โดยพบว่า ล่าสุด (16 ม.ค.60) มีโรงงานที่ได้รับความเสียหายจำนวน 81 ราย เหมืองแร่ 2 ราย ความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 43 ล้านบาท

กระทรวงฯ ได้จัดเตรียมแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เปิดสายด่วน 1564 เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงงานที่ประสบอุทกภัยเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในโรงงาน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการจัดการสารเคมี มาตรการจัดการกากอุตสาหกรรม  มาตรการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร และมาตรการป้องกันระบบไฟฟ้า ตลอดจนการยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ในพื้นที่ภาคใต้

แผนระยะยาว กระทรวงฯได้เตรียม 3 โครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะรับบริการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพื่อแปลงเครื่องจักรเป็นทุน ตั้งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 500 ราย โดยจะอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านช่องทางพิเศษ 2.โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะให้บริการคำปรึกษา แนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ตั้งเป้าหมาย 1,000 ราย โดยพร้อมประสานงานกับสถาบันการเงินให้ด้วย และ 3.โครงการ Thailand Spring Up ก้าวกระโดดประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมให้กับ SMEs หลังน้ำลด

ในส่วนมาตรการที่ทาง ธพว.ได้เตรียมไว้เพื่อเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.การพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าของ ธพว. โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาใกล้บ้าน และ    2.การให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระคืนเงินต้นในช่วง 1 ปีแรก (Grace Period) อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ตลอดอายุสัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการฟื้นฟู ซ่อมแซม ทำความสะอาดสถานประกอบการ หรือลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร สำหรับลูกค้าของธนาคารใน 12 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์

นายสมชาย กล่าวอีกด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน จำนวน 43 ราย ได้ร่วมบริจาคเงินให้กับโครงการ "ประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยภาคใต้" เข้า "กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย" จำนวน 27 ล้านบาท ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้บริจาคสิ่งของอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นจัดส่งไปเบื้องต้นแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ข้าวสาร 1,000 ถุง น้ำดื่ม 4,000 โหล และเงินเพื่อนำไปซื้อข้าวกล่องให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย