กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกพื้นที่น้ำท่วม

18 ม.ค. 2560 | 01:09 น.
กรมปศุสัตว์ย้ำมาตรการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก ในช่วงนี้ที่มีพายุฝนตกกระหน่ำ กำชับให้เกษตรกรจัดเตรียมโรงเรือนและให้เคลื่อนย้ายสัตว์ปีกที่เลี้ยงให้อยู่บนพื้นที่สูง จัดเตรียมวัสดุปูรองและอาหารสัตว์ให้เพียงพอ รวมถึงเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างใกล้ชิด

นายอภัย  สุทธิสังข์  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health หรือ OIE) รายงานการระบาดโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและยุโรป ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 จากประเทศจีนและฮ่องกง ทั้งสิ้น 45 ราย เสียชีวิต 13 ราย คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งจากการรายงานเมื่อวันอังคารที่ 3 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่ประเทศฮ่องกงอีก โดยผู้ป่วยดังกล่าวมีประวัติการเดินทางไปยังตลาดร้านค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกกระหน่ำจนเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ มีอุณหภูมิลดลงและมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก กำชับให้รีบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกไปยังพื้นที่ปลอดภัย บนพื้นที่สูง ที่ระดับน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ และจัดเตรียมหาวัสดุปูรอง น้ำสะอาด พร้อมอาหารสัตว์ ยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการป่วยของสัตว์ปีก เน้นย้ำให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคในช่วงที่มีพายุฝนอย่างเข้มงวด

ในพื้นที่ที่ไม่ได้ประสบปัญหาอุทกภัย ให้ดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน มีหลังคาป้องกันลม ฝน ได้เป็นอย่างดี และสามารถป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มหรือโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก หากเป็นโรงเรือนแบบเปิดจะต้องมีตาข่ายและผ้าใบกันฝนสาด เพื่อป้องกันฝนสาดเข้ามาหาสัตว์เลี้ยง เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม งดให้บุคคลภายนอกเข้าไปในฟาร์ม หากมีความจำเป็น จะต้องเปลี่ยนรองเท้าบูทที่ใช้เฉพาะภายในฟาร์มและเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือน ห้ามยานพาหนะทุกชนิดเข้าไปในฟาร์มโดยเด็ดขาด หากมีความจำเป็นต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้หลังจากผ่านปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมแล้ว ให้เกษตรกรตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งโรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ และรอบบริเวณฟาร์ม ทำการซ่อมแซมในจุดที่เสียหายให้เรียบร้อย ปรับปรุงสภาพโรงเรือนให้ถูกสุขลักษณะปลอดภัยจากโรคระบาด โดยเร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโรงเรือน และอุปกรณ์ต่างๆ