จี้รัฐออกเซฟการ์ดสกัดเหล็กจีน

20 ม.ค. 2560 | 09:30 น.
ส.อ.ท.จี้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเซฟการ์ด สกัดเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนจากจีน ภายใน 28 ม.ค.นี้ หลังล่าช้ามากว่า 2 เดือน โดยเก็บอากรขาเข้าในระดับ 30.68-31.43 % แต่ยกเว้นกับประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะที่ผู้ประกอบการในวงการก่อสร้าง ยังออกแรงคัดค้าน ชี้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น ผู้บริโภคและรัฐเสียประโยชน์

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางส.อ.ท.อยู่ระหว่างการรอการพิจารณากำหนดมาตรการปกป้องสินค้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H ที่เพิ่มขึ้นหรือเซฟการ์ด ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน ของคณะกรรมการพิจารณาไต่สวนมาตรการปกป้อง กระทรวงพาณิชย์ ว่าจะพิจารณาออกมาใช้บังคับในวันที่ 28 มกราคม 2560 นี้หรือไม่ หลังจากที่ล่าช้าจากวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่ครบกำหนดวันพิจารณา

ทั้งนี้ หากการพิจารณายังล่าช้าออกไปอีก เกรงว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวจากจีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอีก สร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งจากการประเมินในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กโครงสร้างที่เจืออัลลอยกว่า 1 แสนตัน และมีการหลบเลี่ยงพิกัดในรูปของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อไม่ต้องเสียอาการขาเข้าตามมาตรการตอบโตการทุ่มตลาดหรือเอดีอีกกว่า 1 แสนตัน ทำให้เหล็กที่นำเข้ามามีราคาต่ำกว่าผู้ผลิตในประเทศอยู่ราว 3-5 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาเหล็กจำหน่ายที่ประมาณ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ประมาณ 7 แสนตันต่อปี

นอกจากนี้ การนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่สูงอยู่นี้ เกรงว่าเมื่อนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากคุณภาพของเหล็กมีความเปราะ ไม่ยืดหยุ่นเหมือนกับเหล็กที่ไม่เจืออัลลอย หากสามารถสกัดเหล็กเจืออัลลอยที่นำเข้าจากจีนได้ จะเป็นการช่วยผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง

โดยมาตรการเซฟการ์ดที่มีการขอให้ภาครัฐดำเนินการไปนั้น ได้ขอให้กำหนดมาตรการปกป้อง จัดเก็บอากรขาเข้ากับเหล็กที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปีแรกนับตั้งแต่มาตรการมีผลใช้บังคับขอให้มีการเก็บอาการขาเข้าในอัตรา 31.43 % ของราคาซี ไอ เอฟ และปีที่ 2 ให้จัดเก็บในอัตรา 31.05 % ของราคาซี ไอ เอฟ และปี ที่ 3 ให้จัดเก็บในอัตรา 30.68 % ของราคาซี ไอ เอฟ แต่จะไม่เรียกเก็บอากรขาเข้ากับเหล็กที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศกำลังพัฒนา

รวมถึงให้ยกเว้นการเก็บอากรสินค้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H ที่มีความต้องการพิเศษในการนำไปใช้งานที่มีข้อกำจัดและมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมีคุณสมบัติความทนทานต่อแรงดึง 58 กิโลกรัมต่อตารางมิลลิเมตรหรือมากกกว่า และมีคุณสมบัติความหนาของหน้าแปลน 40 มิลลิเมตรหรือมากกว่า หรือเหล็กที่มีความสูงน้อยกว่า 100 มิลลิเมตรหรือมากกว่า 912 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในส่วนของผู้ผลิตพยายามออกมาจี้ให้ภาครัฐดำเนินการออกมาตรการเซฟการ์ดก็ตาม แต่ในส่วนของผู้นำเข้าหรือผู้ใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ก่อสร้างเหล็กไทย เปิดเผยว่า หากภาครัฐมีมาตรการเซฟการ์ดออกมาบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่มีทางเลือกในการใช้สินค้า และจะส่งผลให้ผู้ผลิตภายในประเทศเพียงรายเดียวกลับมาผูกขาดสินค้า และจะส่งผลให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณมาแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้เหล็กดังกล่าวในประเทศกว่า 60 ราย ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ การตั้งอากรปกป้อง ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคม และผู้ที่จะเสียประโยชน์มากที่สุดจะเป็นผู้บริโภคในประเทศรวมถึงภาครัฐ ที่จะต้องแบกรับภาระต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น เพราะไม่มีทางเลือกในการใช้เหล็ก ที่สำคัญมองว่า เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า การมีอำนาจเหนือตลาด ผู้บริโภคใช้สินค้าราคาที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงอยากจะให้ภาครัฐทบทวนหรือชะลอการออกมาตรการเซฟการ์ดไว้ก่อน เพราะเห็นว่าผู้ผลิตรายเดียวอย่างบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ไม่ได้รับความเสียหายที่รุนแรงจากการที่มีสินค้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนที่นำเข้ามา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560