กยท.เร่งของบรัฐเยียวยาสวนยางภาคใต้ถูกน้ำท่วมกว่า  7 แสนไร่

13 ม.ค. 2560 | 01:02 น.
การยางแห่งประเทศไทย เร่งเสนอแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง กรณีประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้  จนสวนยางได้รับความเสียหายอย่างหนักรวมกว่า 7 แสนไร่ เตรียมของบสนับสนุนจากรัฐบาลเร่งเยียวยาพี่น้องชาวสวนยาง

ดร.ธีธัช  สุขสะอาด  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า กยท.เตรียมเสนอแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ หลังประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สวนยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยจากการสำรวจล่าสุดมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหายจำนวน 95,789 ราย มีพื้นที่เสียหายรวม 739,926 ไร่ ซึ่ง กยท.ได้ดำเนินการออกระเบียบแนวทางทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยแบ่งความช่วยเหลือตามอายุของต้นยาง ได้แก่ กรณีต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีครึ่ง จะได้รับการจัดงวดงานใหม่ในสวนปลูกแทน เป็นค่าแรงขุดหลุม พันธ์ยาง ปุ๋ย ในการปลูกซ่อม โดยจะเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลมาชดเชยในส่วนที่เกษตรกรได้ดำเนินการไปแล้วแต่เกิดความเสีย หลังจากนั้นจะจ่ายเงินตามปกติ

กรณีต้นยางมีอายุ 2 ปีครึ่ง แต่ไม่เกิน 7 ปี ให้จัดงวดงานภายในงวด และนำเงินคงเหลือในงวดที่ผ่านมารวมกับค่าเงินค่าแรงและวัสดุในงวดถัดไป อีก 1 งวดมาจ่ายให้ก่อน  กรณีต้นยางมีการเปิดกรีดแล้วเสียหาย จนเสียสภาพสวน ให้ขอรับการปลูกแทนตามระเบียบ กยท. จำนวนไร่ละ 16,000 บาท ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

กยท.ได้ยื่นเสนอของบสนับสนุนจากรัฐบาลในเบื้องต้น จำนวน 455 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหาย โดยอาศัยระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2558 มาตรา 49 (2) พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย  ในการปลูกแทนต้นยางที่มีความทรุดโทรมเสียหาย เพื่อเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในเบื้องต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จะพิจารณานำเงินงบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (5) จำนวน 398 ล้านเพื่อช่วยเหลือในส่วนเงินสวัสดิการชาวสวนยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อเยียวยาค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียโอกาสในการกรีดยางในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. ไว้แล้ว โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 1.4 ล้านราย