กบง.มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนม.ค.60 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก.

10 ม.ค. 2560 | 07:56 น.
วันนี้ (10 มกราคม 2560) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า  ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ และรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านพลังงาน ดังนี้

โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมกราคม 2560

•เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 กบง. ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG โดยให้ลดการควบคุมธุรกิจการผลิตและจัดหาลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้กระทบถึงราคาขาย จนนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ โดยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีทั้งระบบ: เปิดเสรีเฉพาะส่วนการนำเข้า แต่ยังคงควบคุมราคาโรงกลั่นน้ำมันและราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยยกเลิกการชดเชยส่วนต่างราคาจากการนำเข้า รวมถึงยกเลิกระบบโควตาการนำเข้าของประเทศ และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซ LPG ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน และระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ: ยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา เปิดเสรีการนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์  รวมถึงยกเลิกการประกาศราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อตลาดมีความพร้อมด้านการแข่งขันที่เพียงพอทั้งในส่วนการผลิตและจัดหา ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป

•เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 กบง. ได้ดำเนินการตามแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ในระยะที่ 1 โดยได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ของประเทศ จากเดิมที่ใช้ราคาต้นทุนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการผลิตและจัดหา (LPG Pool) มาเป็นอ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ดังนี้

- โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและโรงอะโรเมติก: ปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจาก CP-20 เหรียญสหรัฐฯ/ตันเป็น CP

- การนำเข้า: ปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจาก CP+85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เป็นราคา CP+X

(X คือ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าการสูญเสีย และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอื่นๆ)

- โรงแยกก๊าซธรรมชาติ: ใช้หลักเกณฑ์ต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2559 – มกราคม 2560 ต้นทุนอยู่ที่ 13.2638 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 0.1183 บาท/กก. จากเดิม 13.3821 บาท/กก. เนื่องมาจากราคาเนื้อก๊าซ และค่าเชื้อเพลิงในการผลิตที่ปรับตัวลดลง

- ปตท.สผ.สยาม: ใช้หลักเกณฑ์ต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2559 – มกราคม 2560) ต้นทุนคงที่ที่ 15.00 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 69 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 465 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2559 อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 0.4769 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.9820 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับเพิ่มขึ้น 4.6959 บาท/กก. จาก 13.6077 บาท/กก. เป็น 18.3036 บาท/กก. ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก และการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนมกราคม 2560 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อีก 4.6959 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 0.2887 บาท/กก. เป็นกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 4.9846 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายประมาณ 440 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 8 มกราคม 2560 อยู่ที่ 41,069 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,361 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,708 ล้านบาท