ระดมทีมวิศวกรกู้ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องมือแพทย์รพ.บางสะพาน

10 ม.ค. 2560 | 07:04 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระดมทีมวิศวกรรวม 20 ชีวิต กู้ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องมือแพทย์ ระบบอ๊อกซิเจน ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่โรงพยาบาลบางสะพาน หลังถูกน้ำท่วมหนักเมื่อคืนนี้เพื่อสามารถกลับมาให้บริการประชาชนได้โดยด่วนที่สุด โดยเฉพาะ 3 ระบบหัวใจหลักของโรงพยาบาล คือ ไฟฟ้า ประปา และเครื่องมือแพทย์

นายแพทย์ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชน ของกรมสบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมติดตามประเมินสถานการณ์ในวันนี้  สถานพยาบาลที่ต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน คือโรงพยาบาลบางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลหลักใน อ.บางสะพานขนาด 120 เตียง ถูกน้ำท่วมอาคารบริการต่างๆในโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้ ระดับน้ำสูงประมาณ 2 เมตร  จากการส่งทีมวิศวกรเข้าไปประเมินความเสียหาย  พบว่าระบบสนับสนุนหลักๆ ของโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ ได้แก่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า  แผงควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโรงพยาบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบออกซิเจนส่งทางท่อไปยังอาคารผู้ป่วย ระบบประปาบาดาล เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องเอ๊กซเรย์  เป็นต้น

ในวันนี้ กรม สบส.ได้ระดมทีมวิศวกรเชี่ยวชาญสาขาไฟฟ้า เครื่องยนต์  ประปา วิศวกรโยธา  จากสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขตจากจังหวัดพิษณุโลก, นครสวรรค์ และนนทบุรี  ร่วมสมทบกับทีมของสำนักงานฯ เขต 5 จังหวัดราชบุรี  รวม 20 คน เรียกว่าทีมเอ็มเสิร์ต (Medical supportive emergency response team : MSERT) เข้าฟื้นฟูกอบกู้ส่วนที่เป็นหัวใจหลักของโรงพยาบาล  3 ระบบอย่างเร่งด่วนได้แก่ 1.ระบบไฟฟ้า 2.ระบบประปา และ3 เครื่องมือแพทย์  ซึ่งต้องใช้การทำงานที่รวดเร็ว เพื่อให้สามารถกลับมาใช้การได้โดยเร็วที่สุด ส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 4 จ.ราชบุรี ส่งทีมวิศวกรสำรวจสถานพยาบาลอื่นๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะยูนิตทำฟัน  ซึ่งส่วนใหญ่มักตั้งในอาคารบริการชั้นล่าง

สำหรับในส่วนของพื้นที่อื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง  ได้ส่งทีมวิศวกรโยธาเข้าไปดำเนินการสำรวจสถานพยาบาล ซึ่งจะมีการดำเนินงานมี 2 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลันซึ่งจะมีการดำเนินการโดยทันทีเพื่อดูแลความปลอดภัยของอาคารบริการ  ส่วนในระยะที่ 2 คือ การประเมินความเสียหายเพื่อฟื้นฟูสถานพยาบาลให้มีความมั่นคงถาวรและปลอดภัยจากน้ำท่วมต่อไป