คนร.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

09 ม.ค. 2560 | 10:01 น.
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คนร. ครั้งที่ 1/60 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจที่ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหา-แผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ และกรอบเป้าหมายการประเมินผลการดำเนินงานปี 60 ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง

วันนี้ (9 ม.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2560 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. เปิดเผยผลการประชุม คนร. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

คนร. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไทยแลนด์ 4.0 แผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) และนำสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้น ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : กำหนดบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนและแยกบทบาทระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการออกจากกันอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เร่งการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการจัดให้มีแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจราย 5 ปี ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน พร้อมทั้งสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับโครงการลงทุน และการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPPs) หรือการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จะจัดให้มีกลไกในการชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐภายในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมุ่งสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนและลดต้นทุนการดำเนินงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้มีความโปร่งใสและมีคุณธรรม มีกลไกส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อเป็นองค์กรคุณธรรม มีกลไกกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ บริหารความเสี่ยงและประเมินผลที่เพียงพอเหมาะสม มีโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานสมัยใหม่ พัฒนาศักยภาพบุคลากรควบคู่กับการมีคุณธรรม กำหนดระบบแรงจูงใจการดำเนินงานที่เหมาะสม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจจัดทำขึ้นโดย สคร. ร่วมกับ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ (PAC) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรคุณธรรมและเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

พร้อมกันนี้ คนร. รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจปี 2560 และกรอบเป้าหมายการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอ โดยได้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง สรุปได้ดังนี้

1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธพว. โดย ธพว. มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท การบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2560 คนร. ได้กำหนดให้ ธพว. เร่งปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการ NPLs ให้มีจำนวนไม่เกิน 16,600 ล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินการของ ธพว. ให้เป็นไปตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเคร่งครัด

2) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธอท. โดยมีการจัดทำแผนรองรับการดำเนินงานตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของ ธอท. ได้มากขึ้น และได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นไปตามแผนแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการเพิ่มทุนและ ธอท. จะมีการโอนหนี้ NPFs ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินงานของ ธอท. ในเรื่องต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการสรรหาพันธมิตรภายในเดือนมิถุนายน 2560

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขสมก. โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ ขสมก. ให้เป็นไปตามมติ คนร. และ/หรือ แผนการแก้ไขปัญหาองค์กร ทั้งนี้ คนร. ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยโดยเข้มงวด

4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บกท. ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ มอบหมายให้ บกท. เร่งจัดทำระบบขายตั๋วให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการขายผ่าน Internet ให้เร็วขึ้น และพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ

5) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ รฟท. ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของ รฟท. ที่จะรับผิดชอบเรื่องการดำเนินการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันและดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเอง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายพิชิตฯ) และ รฟท. พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จ รวมทั้งจะต้องสามารถลดภาระหนี้สินของ รฟท. ลงด้วย

6) – 7) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โดยจัดตั้งบริษัท NGDC ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และ NGN ในการเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท พิจารณาแผนธุรกิจของ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท และบริษัทในเครือที่จะจัดตั้งขึ้นให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้นำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560