โยธาฯสกัดทุนรุกที่ดินเกษตรผุดบ้านจัดสรร เตรียมบังคับใช้ผังรวมจังหวัดคุมเข้มทั่วไทย

09 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
กรมโยธาฯ ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดทั่วประเทศ ที่เหลือ 39 ผัง ต้นปี 2560 คุมเข้มนักลงทุนรุกที่ดินเกษตรกรรม พัฒนาเชิงพาณิชย์ บ้านจัดสรร-โรงงาน กระทบชาวบ้าน

นายมนตรี ศักดิ์เมืองผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาคกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้ ทั่วประเทศต้องมีผังเมืองรวมจังหวัด

เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2559 ที่ผ่านมาล่าสุดยังมีผังเมืองรวมจังหวัดอีก 39 จังหวัด จาก 73 จังหวัดทั่วประเทศยังไม่ประกาศใช้ แยกเป็น 32จังหวัด อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา อีก 7จังหวัดรอเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) ลงนาม อาทิ จังหวัดสงขลา, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, พิจิตร, ชัยนาท, อุตรดิตถ์ และ บุรีรัมย์ คาดว่าทั้งประเทศจะมีผังเมืองรวมจังหวัดบังคับใช้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในต้นปี2560 และ ทุกพื้นที่ที่ผังเมืองรวมบังคับใช้จะถูกควบคุมจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร 2522 โดยอัตโนมัติ จากเดิมที่เลื่อนบังคับใช้ทั้งประเทศให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2560 และ มองว่าไม่ทันแน่นอน

สำหรับจังหวัดที่ยังไม่ประกาศใช้จะเปิดช่องให้นักลงทุนกว้านซื้อที่ดินพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินที่กำหนดให้ใช้เฉพาะเกษตรกรรมพัฒนาบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น กระทบสิ่งแวดล้อมชุมชน ขณะเดียวกัน ยังกระทบต่อสาธารรูปโภค อาทิ ถนน ประปา เข้าพื้นที่ ยกตัวอย่าง ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีษะเกษที่ ต้องอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว รวมทั้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ผ่านมากำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ปลูกข้าว เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำ แต่เมื่อไม่มีผังเมืองควบคุม ทำให้ เกิดบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรมขึ้นแทนพื้นที่เกษตร ส่งผลให้ เกิดปัญหาน้ำท่วม โยเฉพาะ บทเรียนปี 2554 ที่ นำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะแทนที่จะมีพื้นที่ระบายน้ำจากพื้นที่เกษตรแต่กลับมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นขวางทางน้ำแทน

อย่างไรก็ดี ผังเมืองรวมจังหวัดจะควบคุมในกรอบกว้างๆ แต่จะมี ผังชุมชน ที่กำหนด เฉพาะย่านต่างๆ ขณะนี้มี 300-400 ผังที่จะกำหนดการใช้ที่ดินอย่างละเอียด จะไม่มีปัญหาผังเมืองหมดอายุหรือ สุญญากาศ เพราะ มีการปรับเล็กโดยแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองปี 2518 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2557 เป็นต้นไป จากเดิม ผังเมืองจะบังคับใช้ 5ปี สามารถต่ออายุได้อีก 2ปี รวม 7ปี หากต่ออายุไม่ทัน ถือว่า ผังเมืองขาดอายุ และสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้อย่างเสรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560