เงินเฟ้อปี ’60 คาดเฉลี่ยที่ 1.8% จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

04 ม.ค. 2560 | 13:30 น.
03_KResearch_CH_14 •เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2559 แม้จะทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี แต่เริ่มเห็นสัญญาณการไต่ระดับขึ้นของเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ รวมถึงราคาสินค้าและบริการที่อาศัยพลังงานเป็นส่วนประกอบหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเร่งขึ้นมากกว่าร้อยละ 16 โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. 2559 ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวที่ร้อยละ 1.13 จากราคาสินค้าในหมวดพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

•ส่งผลให้ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2560 คาดปรับตัวสูงขึ้นที่เฉลี่ยร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยมีราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นแรงหนุน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยในปี 2560 จะอยู่ที่ 50.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่เฉลี่ย 41.3 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระดับปัจจุบัน (53.6 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 4 มกราคม 2560) จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่มโอเปกในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องติดตามต่อไปว่าประเทศสมาชิกและนอกกลุ่มโอเปกจะสามารถทำตามข้อตกลงได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นจะเป็นแรงหนุนหลักต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 นี้ ให้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.8 ต่อปี และจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผ่านต้นทุนการผลิตมายังสินค้าและบริการอื่นๆ ให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะมีผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐานให้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี

•ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีนัยต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังจำกัด รวมถึงนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังถูกจำกัดด้วยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงประกอบกับรายได้ครัวเรือนที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนในปี 2560 ในขณะที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปี 2560 นี้ แม้ว่าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (เฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 2.5 ± 1.5) แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นอีกราว 2 ครั้งในปี 2560 นี้ จะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยผ่านการไหลออกของเงินทุนรวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อรอประเมินสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นระยะๆ

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย