คมนาคมเตรียมเสนอใช้ ม 44 เพิ่มบทลงโทษรถตู้โดยสาร

04 ม.ค. 2560 | 13:11 น.
กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอใช้ ม 44 เพิ่มบทลงโทษรถตู้โดยสารสาธารณะ หลังเกิดเหตุรถตู้โดยสารสายกรุงเทพฯ-จันทบุรี ชนประสานงากับรถกระบะที่ชลบุรีจนมีผู้เสียชีวิต 25 ศพ คาดประกาศใช้ทันสงกรานต์ปีนี้

S__7249933 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุระหว่างรถโดยสารสาธารณะเส้นทางกรุงเทพฯ-จันทบุรีกับรถกระบะจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง 25 คนว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทขนส่งและผู้ประกอบการ คือ บริษัท พลอยหยก จำกัด เร่งเยียวยาและดูแลผู้เสียชีวิต และจะมีการขอเสนอใช้มาตรา 44 ในการเพิ่มบทลงโทษและกฎหมาย ให้มีความรุนแรงมากขึ้นในการควบคุมดูแลผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ เพราะในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุสูง และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะอีกไม่เกิน 3 เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์

นอกจากนี้จะมีการประกาศบังคับใช้ว่ารถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันจะต้องติดตั้งระบบจีพีเอสไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมนี้จากเดิมที่กำหนดไว้สิ้นปี ซึ่งปัจจุบันมีรถตู้โดยสารสาธารณะที่อยู่ในระบบกว่า 20,000 คัน ทั้งของรถร่วมบริการ  รถ บขส.และขสมก. ซึ่งระบบจีพีเอสจะมีข้อดีในเรื่องการยืนยันตัวผู้ขับและประเภทของรถให้ตรงกัน การตรวจสอบระยะเวลาให้บริการของผู้ขับว่าหากให้บริการครบ 8 ชั่วโมงต่อวันแล้วจะต้องพัก 10 ชั่วโมงจึงจะสามารถกลับมาขับรถได้ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุผู้ประกอบการจะต้องร่วมรับผิดชอบกับพนักงานขับรถด้วย และจะต้องมีการติดตั้งหน้าจอแสดงความเร็วให้ผู้โดยสารได้เห็นอย่างชัดเจน  รวมถึงพนักงานขับรถจะต้องมีสมุดพกประจำตัวเพื่อแสดงระยะเวลาการทำงาน

ประการสำคัญได้กำหนดมาตรการไว้ว่ารถตู้โดยสารตามพื้นที่จังหวัดต่างๆจะต้องนำรถเข้าสู่พื้นที่การจัดระเบียบไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากที่กำหนดระยะเวลาการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะของพื้นที่กรุงเทพฯว่าจะต้องเข้าสู่พื้นที่สถานีขนส่งทั้ง 4 แห่งไม่เกินวันที่ 25 ตุลาคมปีที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัดไปเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่มี 20 – 21 ที่นั่ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะใช้รถแบบใด ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ แต่คงมีมาตรการทางการเงินการคลังเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกิบการ โดยรถตู้โดยสารที่จะได้รับผลกระทบมีอยู่ 2 ประเภทคือรถตู้จัดระเบียบ (ต) ที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2553 – 2563 ประมาณ 2,400 คัน และรถตู้จัดระเบียบ(ช)ที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2557 – 2564 ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องให้ระยะเวลาในการแก้ไข ส่วนรถตู้โดยสารสาธารณะใหม่ได้ระงับการจดทะเบียนไว้แล้ว

ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า จากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทางขบ.ได้ดำเนินการยกเลิกสัญญาเดินรถเส้นทางกรุงเทพ-จันทบุรี กับบริษัทพลอยหยก จำกัดแล้ว และให้ถอนรถออกจากบัญชีการเดินรถร่วมบริการบขส. รวมถึงไม่ให้นำรถเข้ามาทดแทน