กรมสบส.จับตาใกล้ชิด 8  รพ.ในภาคใต้เสี่ยงน้ำท่วม ให้ทีมวิศวกรเตรียมพร้อม 24 ชม.

04 ม.ค. 2560 | 08:55 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้หน่วยงานในสังกัดระดับเขตประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 8 แห่ง ในจังหวัดสงขลา พัทลุง และตรัง ให้ทีมวิศวกรเตรียมพร้อมออกปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมสนับสนุนภาควิชาการแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อปฏิบัติการดูแลสุขภาพประชาชนและป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด

170781 วันที่ 4 มกราคม 2560  นายแพทย์ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร  รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้จากฝนตกหนักว่า กรม สบส.ได้สั่งการให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 11 และ 12 ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา ติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม 8 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดพัทลุง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพัทลุง โรงพยาบาลควนขนุน โรงพยาบาลกงหรา  และโรงพยาบาลศรีนครินทร์  จังหวัดตรัง 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลรัษฎา และที่จังหวัดสงขลา 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลนาทวี และโรงพยาบาลจะนะ ทั้งหมดนี้ได้ประสานและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดังกล่าว ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า ขนย้ายเครื่องมือแพทย์ไว้ที่ปลอดภัย  เพื่อป้องกันความสูญเสียและสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการตรวจสอบระบบการสื่อสารของโรงพยาบาลให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ได้เตรียมทีมวิศวกรฉุกเฉินไว้ 4 ทีม ซึ่งมีทั้งด้านเครื่องมือแพทย์ และโยธา พร้อมออกปฏิบัติการทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

“ได้รับรายงานว่าเมื่อคืนนี้ มีน้ำเข้าท่วมอาคารแพทย์แผนไทย ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร  ทำให้โต๊ะทำงาน และชุดสำรองไฟเครื่องคอมพิวเตอร์  ได้รับความเสียหาย  1 เครื่อง ล่าสุดนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว กรม สบส.ได้ส่งทีมวิศวกรโยธาเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสถานที่แล้ว“

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า  ในส่วนการปฏิบัติการในภาคของประชาชน กรม สบส.ได้สนับสนุนเรือท้องแบนจำนวน 2 ลำ เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. ใช้สำหรับออกปฏิบัติงานเข้าไปดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดบ้านติดเตียง หรือผู้พิการในจังหวัดสงขลา และยะลา พร้อมทั้งได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ด้านวิชาการอีก 1 ทีม เพื่อสนับสนุนภาควิชาการแก่ อสม. ในการปฏิบัติงานฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู เป็นต้น