ปิยะ ตันติเวชยานนท์ หลักคิดในการลงทุน... 'ใหญ่ในที่เล็ก'

06 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
หากพูดถึง "ซุปเปอร์ริช" (SuperRich) ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคนก็มักจะถามว่า ซุปเปอร์ริชสีไหน ส้มหรือเขียว แล้วส้มกับเขียวเขาเป็นอะไรกัน รวมทั้งสีฟ้าที่เพิ่มเข้ามาด้วย แล้วส้มกะเขียวและฟ้า เขาเป็นอะไรกัน...?? สรุปสั้นว่า ทุกสีเป็นเครือญาติกัน

"ปิยะ ตันติเวชยานนท์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์เชนจ์(1965) จำกัด ยอมรับว่า คำถามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก และอีกคำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อย คือ ซุปเปอร์ริช สีส้ม มีส่วนแบ่งตลาดอย่างไร เป็นผู้นำตลาดหรือเปล่า สำหรับคำถามนี้ เขาตอบเลยว่า ปกติจะบอกว่า ซุปเปอร์ริชของเขา เป็น 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5 ของผู้นำตลาดแลกเงินต่างประเทศ และขณะนี้ เขาคือ 1 ใน 3 ของแบรนด์ผู้นำตลาด

"ทำไมถึงตอบได้แบบนั้นเหรอ ก็เพราะเมื่อก่อนเวลาส่งเรตเงินเข้าไปในตลาดแลกเปลี่ยน ต้องใช้เวลาประมาณ 15 นาที ตลาดจึงจะรับรู้ แต่ตอนนี้ใช้เวลา 5 นาที ตลาดรับรู้ นั่นหมายความว่า ตอนนี้เราใหญ่พอแล้วที่คนจะสังเกตเห็นว่าเรตราคามันเปลี่ยนแล้ว โดยใช้ราคาของซุปเปอร์ ริช เป็นมาตรฐาน ในการเทียบกับรายอื่นๆ ในตลาด"

การที่ซุปเปอร์ ริช สีส้ม สามารถก้าวขึ้นตำแหน่งผู้นำได้ อยู่ที่วิสัยทัศน์ของแม่ทัพ "ปิยะ" ที่มีมุมมองและมีแนวทางการวางยุทธวิธีทำตลาดที่แตกต่าง เขาวางร้านซุปเปอร์ ริช เหมือนร้านสะดวกซื้อเหมือนเซเว่นอีเลฟเว่น มีจำนวนสาขาที่มากขึ้น เข้าไปใกล้ผู้บริโภคให้มากขึ้น เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า แล้วใส่บริการที่ดีเข้าไป ก็จะทำให้ซุปเปอร์ ริช ถูกเลือก แม้เรตแลกเปลี่ยนเงินของซุปเปอร์ ริชจะพรีเมียมกว่า หรือสูงกว่าแบรนด์อื่นๆ

"ผมเป็นเจ้าแรกที่ขยายสาขา เราเน้นการลงทุนน้อยกำไรเยอะ "ใหญ่ในที่เล็ก"..." ปิยะ เลือกที่จะเป็นร้านรับเงินที่ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยเลือกขยายสาขาเข้าไปในจุดที่เป็น prime area หรือทำเลที่ดี เช่น แหล่งช็อปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แทนจะไปรับแลกเปลี่ยนเงินก้อนโต ที่ลูกค้ามักต่อรองราคา เช่น มีดอลลาร์มาแลก 5 หมื่น เรตแลกเปลี่ยน 30 บาทถ้วน ลูกค้าต่อ ขอ 30.10 บาท เมื่อผมนำมาขายได้ 30.12 บาท แสนเหรียญลงทุน 3 ล้าน กำไร 2 พัน ผมไม่เอา ผมมาเน้นนักท่องเที่ยวดีกว่า เข้าไปใกล้ลูกค้า ทำให้เขาสะดวก ทำให้เขามีความสุข เหมือนเซเว่นฯ นี่คือหลักคิดของผม ใหญ่ในที่เล็ก"

นอกจากกลยุทธ์ในการทำตลาดที่แตกต่าง เขายังมีวิธีสร้างโปรดักต์ที่แตกต่าง และเพิ่มศักยภาพของพนักงาน เพื่อให้บริการที่ดีให้กับลูกค้า ด้วยการฝึกอบรมทั้งในองค์กร และส่งออกไปเรียนรู้ข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานอื่นๆ

"ปิยะ" บอกว่า ทุกอย่างที่ได้มา เกิดจากการเรียนรู้ เพราะตัวเขาเองไม่ได้จบการตลาด ความรู้ในการวางกลยุทธ์ การบริหารบุคคล ได้มาจากความช่างถาม อาศัยครูพักลักจำ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองด้วยความเข้าใจ รวมไปถึงการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เกิดมุมมองที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งกับยุคสมัย ความต้องการของตลาด และบุคลากร ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

จากมุมมองธุรกิจ ที่เลือกทำตัวเองให้เหมือนเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ไปสู่การเป็น CONNECTIVITY ที่มีความเป็นสากล เช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้ประเทศไทยด้วยนโยบาย 4.0 ขึ้นมา...สร้างไทยให้เป็น CONNECTIVITY LAND เน้นเรื่องเทคโนโลยี และการขนส่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ผมเห็นด้วย แล้วเราเอาตัวนี้มาปรับใช้กับซุปเปอร์ริชอย่างไร ถ้าเอาซุปเปอร์ริชมาทำเป็น CONNECTIVITY ให้ลูกค้าทั่วโลก มันจะดูเป็นสากลขนาดไหน...นี่คือทิศทางธุรกิจของซุปเปอร์ริช ที่ "ปิยะ"วางเป้าไว้ และขณะนี้เขาก็มีแผนเปิดสาขาซุปเปอร์ริช แล้ว ที่อังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการได้ไม่เกินกลางปีหน้า หลังได้รับใบอนุญาต

ส่วนในเมืองไทย จากสาขาที่มี 43 สาขา ปีหน้าเขาเตรียมพร้อมที่จะขยายเพิ่มให้ครบ 50 สาขา โดยเน้นจุดที่เป็นทำเลทอง อย่าง เยาวราช จีทาวเวอร์ โชว์ดีซี และยังเล็งไปที่กลุ่มประเทศ CLMV อาทิ ลาว เมียนมา รวมไปถึงการขยายไปในจังหวัดที่เป็นเมืองเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง มุกดาหาร แม่สอด หนองคาย จากเดิมที่มีสาขาในต่างจังหวัดแล้วที่ ภูเก็ต หัวหิน ขอนแก่น

"ปิยะ" ทิ้งท้ายว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำ คือ การสร้างหลักสูตรแลกเงิน มาสอนให้กับคนที่สนใจ ซึ่งอาจจะไปจับมือกับมหาวิทยาลัย หรือสร้างเป็นหลักสูตรขึ้นมาสอนเอง ถือเป็นการสร้างบุคลากรให้กับธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ต้องใช้ความรู้พิเศษที่ล้อไปกับกฎหมายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อันใหม่ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังปรับปรุงแก้ไขอยู่ รวมถึงต้องรู้เกี่ยวกับ กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ซึ่งความรู้เหล่านี้ ไม่มีสอนในหลักสูตรทั่วไป ทั้งๆ ที่ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้เหล่านี้ มีอยู่ในตลาดมากพอสมควร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560