การเมืองปีระกา ‘พลังสังคม’เคลื่อนไหวเข้มข้น

05 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
นายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ ประเมินถึงทิศทางการเมือง และปัญหาที่รัฐบาลต้องเผชิญในหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากฝ่ายการเมือง และกลุ่มพลังสังคม

 โจทย์ใหญ่ปฏิรูปประเทศ

นายยุทธพร ฟันธงว่าโจทย์ใหญ่ที่สุดในทางการเมืองที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ต้องเผชิญในปี 2560 ไม่พ้นการปฏิรูปประเทศ เพราะร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 แล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และที่ต้องตามมาอีกคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.)ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ เมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง พ.ร.ป.คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และพ.ร.ป.พรรคการเมือง เริ่มปรากฏโฉมหน้า ตัวแสดงที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความเห็นคัดค้านในหลายประเด็น

นอกจากนี้ การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องตรวจสอบติดตามมากขึ้นโดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ เป็นจุดที่สะท้อนว่าภาวะที่ผ่านมาพลังสังคมอาจจะถูกกดทับ ในเรื่องการแสดงออกหรือสิทธิเสรีภาพ ถูกกระทบกับความเป็นส่วนตัวในการใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ คนจึงเข้ามาตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของ สนช. เวลาอันสั้นกับการล่า 3 แสนรายชื่อคัดค้าน ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คงไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน ในปี 2560 คนจะติดตามเรื่องนี้มากขึ้น ความเข้มข้นจะมากขึ้นด้วย

“ผลจากการต่อต้านร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สะท้อนว่าขณะนี้รัฐไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ พอมีแฮกเกอร์เข้ามาโจมตีหรือมีวิกฤติบนโลกไซเบอร์ รัฐบาลรับมือไม่ได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะบุคลากรด้านไอทีขีดความสามารถยังไม่ถึง”

 ภาวะเศรษฐกิจยังซึมต่อเนื่อง

ในขณะที่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นจุดใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งปัญหาเกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน กล่าวคือ ปัจจัยภายนอก เป็นเรื่องความเชื่อมั่นทางการเมือง อาทิ โรดแม็ปการเมืองจะเดินต่อไปอย่างไร การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 หรือไม่ เมื่อเป็นแบบนี้ภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุน ก็เฝ้ารอ เมื่อนานๆเข้า การย้านฐานการผลิตก็เกิดขึ้น สิ่งนี้เราจะเห็นเป็นระยะๆ ผลกระทบที่จะตามมาแน่นอนเกิดปัญหาว่างงาน การลงทุนภาครัฐ การเก็บภาษี จะเป็นปัญหาลูกโซ่ตามมา ขบวนการเหล่านี้จะเกิดผลกระทบต่อการเมือง คนจะตั้งคำถามว่า รัฐบาลทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีอะไรดีขึ้นหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

นายยุทธพร ยังสะท้อนภาพการทำงานที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลว่า การปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 4” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 รัฐบาลมีความวิตกกังวลต่อภาพลักษณ์รัฐบาล เห็นได้จากมีครม.ใหม่มาจากพลเรือนทั้งหมด ผิดจากรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” รัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากทหาร ซึ่งสังคมไม่ค่อยตอบรับเท่าใดนัก รวมถึงการยอมรับในต่างประเทศ ยังไม่รวมปัจจัยนอกนอก เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยถูกกีดกันทางการค้า ประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลต้องแก้โจทย์ไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเป็น 3.2 % ซึ่งต้องติดตามว่าจะทำตามนั้นหรือไม่ เมื่อบวกกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีเฉพาะรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเพิ่งเสร็จบางส่วน กลไกอื่นยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งปัญหาก็จะกลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการเมืองสีเสื้อ ความขัดแย้งของ 2 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ การต่อสู้แข่งขันอย่างรุนแรงในกรอบกติกาใหม่ รวมไปถึงความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจรัฐ คือ คสช.จะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะมีคำตอบในปีนี้

ด้วยสถานการณ์การเมืองเหล่านี้ เชื่อว่าถ้าการเมืองไม่นิ่ง เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องติดตาม อาทิ โค้งสุดท้ายคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะออกมาอย่างไร โอกาสที่จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในปี 2560 คงเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าต้องยืดไปอีก 2- 3 ปี หรือประมาณปี 2562 นั่นย่อมหมายถึงโรดแมปเลือกตั้งต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อโรดแมปได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจปีนี้ก็จะอยู่ในอาการซึม และนิ่งชะลอตัว ซึ่งในระยะยาวส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โฟกัสไปที่พรรคการเมือง นายยุทธพร ย้ำว่า นักการเมืองก็ต้องปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรับกติกาใหม่ที่จะเกิดขั้นในปีนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่มาจากฐานมวลชนมากขึ้น ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจเหมือนในอดีตที่จัดตั้งเพื่อคนบางกลุ่มเข้าสู่อำนาจรัฐ

 อย่าใช้ม.44 ครอบจักรวาล

ส่วนการแก้ปัญหาด้านสังคม ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้เยอะ เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้อำนาจหัวหน้า คสช. แน่นอนว่า การงัดมาตรา 44 มาคลี่คลายเหตุ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบทหารและได้ผลรวดเร็ว แต่จะยั่งยืนหรือไม่ ยังต้องการคำตอบ ถ้าสังเกตการใช้มาตรา 44 ของ หัวหน้า คสช.จะเห็นว่าในช่วงแรกเป็นการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ทรัพยากรธรรมชาติ ตอนนี้กลายเป็นเรื่ององค์กรอิสระ และการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดสรรคลื่นความถี่ เป็นต้น

“ถ้าแก้ปัญหาด้วยมาตรา 44 ทุกเรื่อง สุดท้าย มาตรา 44 จะกลายเป็นเรื่องครอบจักรวาล เพราะฉะนั้นการใช้ต้องระมัดระวังเพราะสุดท้ายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของกฎหมาย และทำให้หลักกฎหมายรวนเรได้”

นายยุทธพร ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของการใช้ มาตรา 44 ว่า แม้เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ขบวนการแก้กฎหมายที่ออกโดย มาตรา 44 ก็ทำได้ยาก หากย้อนไปดู 2 ปีกว่าที่ผ่านมา โจทย์แรกที่ คสช.เข้ามา หลังวันที่22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช.ตั้งเป้าแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เวลาล่วงเลยจนถึงปีที่ 3 ของการบริหารประเทศ การแก้ปัญหาความขัดแย้งยังไปไม่ถึงไหน เพราะที่ผ่านมาความขัดแย้งแค่ถูกกดทับไว้โดยใช้อำนาจ มาตรา 44 “ ปีนี้คนจะพูดถึงสิทธิเสรีภาพและเรียกร้องในหลายเรื่อง เช่น การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม การเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ จะมีมากขึ้น เพราะนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อคนเหล่านี้ ไม่ว่าการยุบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุบสภาพัฒนาการเมือง หลายองค์กรจะถูกปฏิรูป สิ่งเหล่านี้เป็นการบีบพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชนให้ลดลง โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะออกมาเคลื่อนไหวนอกระบบมากขึ้น”

ทั้งหมดเป็นคำเตือนจากกูรูด้านรัฐศาสตร์ที่สะท้อนทิศทางการเมือง ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560