โมเดล‘ต่อลมหายใจ’โรงเรียนเอกชน สช.จัดกลุ่มเสี่ยง-อัดเงินอุดหนุน

03 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
กระแสความนิยมของผู้ปกครองที่เลือกให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโรงเรียนนานาชาติโดยตรง นายกฤตชัย อรุณรัตน์  เลขาธิการ สช. ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มเป็นระยะ ซึ่งในปี 2559 มีจำนวน 174แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ส่วนที่ผู้ปกครองนิยมเพราะค่าใช้จ่ายของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการไปเรียนที่ต่างประเทศในแถบเพื่อนบ้าน แม้จะได้เรียนในประเทศแต่ใช้หลักสูตรจริงที่เป็นภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่ลักษณะของโรงเรียน 2ภาษา เมื่อบุตรหลานเรียนก็ยังสามารถไปเชื่อมต่อกับระดับที่สูงขึ้นของแต่ละระดับชั้นได้ อย่างเช่น ถ้าเรียนในไทยถึงเกรด 12 ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศในระดับที่ต่อจากเกรด 12 ได้ ในประเทศที่เป็นเจ้าของหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีความอบอุ่นเพราะอยู่ใกล้ครอบครัว ผู้ปกครองอยู่ในกำลังที่สามารถส่งเรียนได้ มีความโดดเด่นด้านภาษาด้วย เพราะตอนนี้มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาที่ 2 ที่ 3

“ดังนั้นเส้นทางของอนาคตที่จะไปต่อระหว่างโรงเรียนนานาชาติกับโรงเรียน2 ภาษาต่างกัน เพราะโรงเรียน 2 ภาษาต้องใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจะมีการสอน 2 ภาษาในแต่ละวิชา และต้องไปทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษอีก ส่วนโรงเรียนนานาชาติจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หรือว่าเป็นภาษาของประเทศแม่ทั้งหมดทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย ที่ต้องสอนเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เอาภาษาไทยไปสอนเป็นภาษาอังกฤษโดยโรงเรียนนานาชาติต้องใช้หลักสูตรต่างประเทศ จะมีคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรว่าเหมาะสมและมีความเป็นไปได้หรือไม่ มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ได้รับการยินยอมจากประเทศที่เป็นเจ้าของหลักสูตรหรือเปล่า”

ส่วนความนิยมจนทำให้มีความเจริญเติบโตของโรงเรียนนานาชาติส่งผลอย่างไรกับโรงเรียนเอกชนของไทย นายกฤตชัยตอบว่า “น่าคิดนะครับ” เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องกลับหันมามองเหมือนกันว่าในโรงเรียนเอกชน ถ้ามองถึงลูกค้าเอกชนเขาจะต้องบริหารจัดการเพื่อให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะลูกค้าคือผู้เรียน ในเมื่อมีโรงเรียนนานาชาติควบคู่กันมาแล้วการเรียนการสอนจะต่างกันตรงมีอีกภาษาหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้เรียน กลุ่มเป้าหมายก็จะต้องเข้าไปในโรงเรียนเท่ากัน ก็ต้องมีผลกระทบบ้าง เพราะถ้าผู้ปกครองมีกำลังพอ ก็อาจจะตัดสินใจส่งไปเรียนนานาชาติเพราะจะได้เรียนภาษาทั้งหมด

“ฉะนั้นโรงเรียนที่อยู่ในระบบอาจจะได้รับผลกระทบ ก็จะเหลือเฉพาะผู้ปกครองที่มีความศรัทธาหรือว่ามีความต้องการเรียนโรงเรียนเอกชนทั่วไป เพราะผู้ปกครองมองว่าโรงเรียนเอกชนมีคุณภาพโรงเรียนดี มีชื่อเสียง แต่ที่สำคัญกว่าคือผู้ที่เรียนที่นี่แล้วประสบความสำเร็จ เช่นไปสอบเรียนต่อได้เยอะ ประสบความสำเร็จในหน้าที่ เป็นสิ่งที่จูงใจ ส่วนตัวผมเองมองว่าโรงเรียนเอกชนคือโรงเรียนที่ปิดทองหลังพระ เพราะช่วยเหลือให้การศึกษาแบ่งเบาภาระโรงเรียนของรัฐ”

ส่วนกระแสข่าวโรงเรียนเอกชนของไทยหลายร้อยโรงเรียนจะปิดตัว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเลขาธิการสช. ตอบว่า “ใช่” เราพยายามหาข้อมูลอยู่ พบว่าในส่วนของโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนตํ่ากว่า 200 คน ถือว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในปี 2558-2559 มีอัตราเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ประมาณ 913 โรงเรียน แต่เรามีการจัดกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะถ้าไม่ดูแลอาจจะถึงขั้นปิดตัว

อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ต้องพัฒนายังดูแลได้ แต่ต้องดูรายละเอียดความเชื่อมโยงกับระดับชั้นที่สอนด้วย ว่าสอนอนุบาลมัธยมศึกษาตอนต้นหรือว่ารวมกันทั้งหมดแต่เราเหมารวมว่าถ้านักเรียน 200 คนลงมา ก็จะเป็นส่วนของโรงเรียนขนาดเล็ก

“แต่เราต้องดูสัดส่วนด้วย เช่น ถ้าอนุบาลมีจำนวนเด็กมากขึ้นก็อาจจะพออยู่ได้ หรอื ถ้าเป็นมธั ยมมสี ัดส่วนมากกว่าในระดับอื่น ก็อาจจะล่อแหลมถึงขั้นวิกฤติที่จะดูแลยาก เพราะค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการก็จะต้องมากขึ้น ดังนั้นจะมีการจัดกลุ่มว่าระดับไหน ประเภทไหน ระดับชั้นไหน ที่มีแนวโน้มเป็นอัตราเสี่ยงที่สามารถพัฒนาหรือดำเนินการได้”

ส่วนการช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านั้น นายกฤตชัย กล่าวว่า อาจจะนำเงินอุดหนุนไปอัดฉีด โดยนำไปผูกกับเรื่องของคุณภาพ ที่เรามองคุณภาพจากคะแนนโอเน็ต เช่น มีคะแนนโอเน็ตพัฒนาขึ้นอาจจะไม่ต้องนำไปเทียบกับเกณฑ์ของมาตรฐาน แต่ให้มีการพัฒนาของตัวเองแข่งกับตัวเอง เช่น โรงเรียนนี้เคยได้คะแนนโอเน็ตเท่านี้ แต่สามารถทำให้สูงขึ้นได้ คิดเป็นร้อยละเท่าไร อาจจะวางเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นให้ แต่ถ้าคะแนนลดลงคุณก็ไม่ได้ เหมือนเป็นโปรโมชันมาดูแล ก็หาแนวทางที่จะช่วยพัฒนา ให้โรงเรียนสามารถอยู่ได้ แต่จากสถิติปี2558-2559 ต่อเนื่องปี 2560 เราพยายามดูแลก็ยังไม่มีโรงเรียนที่จะปิดตัวลง ก็พยายามประคับประคองและดูแลกัน

“เราต้องซับพอร์ตเงินอุดหนุนเรามีแนวทางที่จะพัฒนาเรื่องเงินอุดหนุนให้กับสถานศึกษา ว่าเขาสามารถที่จะได้เงินอุดหนุนในเรตอัตราเท่าไรเขาถึงจะอยู่ได้เช่น จำนวนนักเรียนมีเท่านี้ มีอัตราส่วนที่ควรจะได้ ไปผูกโยงกับคุณภาพของคะแนนโอเน็ต ก็จะให้เขาพยายามดูแลบริหารจัดการให้โรงเรียนอยู่ได้”

แล้วรัฐมีหน้าที่ดูแลโรงเรียนนานาชาติขนาดไหน เลขาธิการสช. กล่าวว่า เป็นการดูแลเชิงคุณภาพ การประกันคุณภาพ เรื่องการสนับสนุนเชิงวิชาการการกำกับดูแล ให้เป็นไปตามมาตรฐานและเงื่อนไขกรอบของหลักสูตรที่เราได้อนุมัติตามที่ได้เอาของต่างประเทศมาใช้และดูเรื่องบุคลากร สถานที่ที่มีกฎหมายที่จะใช้กับโรงเรียนนานาชาติเฉพาะ ที่จะต้องมีการควบคุม เพราะว่าเรื่องงบไม่ต้องพูดถึงเขาดูแลตัวเองได้

ส่วนนโยบายการบริหารให้โรงเรียนในกำกับของสช.ให้อยู่รอดนั้น นายกฤตชัย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยกำกับดูแล เรามององค์ประกอบ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องการสนับสนุนที่เป็นงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุน ว่าเพียงพอหรือไม่ และด้านของครู มีความพร้อมในการพัฒนาบุคลากร สามารถถ่ายทอดความรู้และจัดกระบวนการเรียนการสอนได้หรือไม่ และการสนับสนุนเชิงวิชาการ เรื่องสื่อการเรียนการสอน นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องดูแลให้เท่าเทียมกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560