4 เมกะเทรนด์ปีระกา ยุคดิจิตอลไล่ล่ารับพฤติกรรม New Gen

02 ม.ค. 2560 | 03:00 น.
นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่จะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อนำมาต่อยอดให้กับสินค้าและบริการ หลอมรวมเข้ากับทุกธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ เกิดธุรกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจการเงิน กลายเป็น “ฟินเทค”ธุรกิจการตลาด แปลงร่างเป็น “การตลาด 4.0” หรือธุรกิจสมัยใหม่ สร้างเงิน สร้างรายได้ที่เรียกตัวเองว่า “สตาร์ตอัพ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟน

ทั้ง 4 เทรนด์ธุรกิจนี้ถูกยกให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนปี 2560 ปลุกให้ผู้ประกอบการต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปการทำธุรกิจหรือBusiness Transformation เพื่อก้าวให้ทันบริบทของโลกโซเชียลที่เกิดขึ้นและชิงความได้เปรียบ สร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต

 แบงก์ลงสนาม“ฟินเทค”เต็มสูบ

วงการธนาคารหลัง Fintech หรือ Financial Technology จุดติดจากปีที่แล้วเมื่อทุกธนาคารเตรียมกระสุนไว้พร้อมประกาศชนทุกคู่แข่งขัน ค่ายกสิกรไทยตั้ง KBTG พร้อมอัดงบปีละ 5,000 ล้านบาทพัฒนาเทคโนโลยีสู้ ไทยพาณิชย์ลงทุน Ripple เจ้าพ่อโอนเงินออนไลน์ระดับโลก ขณะที่กรุงศรีอยุธยา เตรียมปล่อยกู้ผ่านโมบายแอพพลิเคชัน

อย่างไรก็ดีประเมินว่าในปี 2560 ฟินเทคยังร้อนแรงต่อเนื่องตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา "สตาร์ตอัพฟินเทค"จะเป็นผู้เล่นรายใหม่ มาเขย่าวงการเงิน แนวโน้มการแข่งขันทั้งจากธนาคารและนอนธนาคาร จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว เมื่อธุรกรรมการเงินถูกโยกไปไว้บนสมาร์ทโฟน

 KBANK พุ่ง 8 พันล้านรายการ

ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารรายแรก ๆที่ประกาศยุทธศาสตร์ดิจิตอลแบงกิ้ง ในปีนี้ นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน บริษัทกสิกร บิสิเนสเทคโนโลยี กรุ๊ปฯ (KASIKORN Business-Technology Group: KBTG) ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนในฟินเทคและสตาร์ตอัพเต็มตัว โดยทำผ่านบริษัท Venture Capital วงเงิน 1,000 ล้านบาท ทั้งการลงทุนโดยตรง ในสตาร์ตอัพไทยและในภูมิภาค และการลงทุนผ่านกองทุนเพื่อการระดมทุน (Fund of Fund)

ข้อมูลของธนาคารกสิกรไทย สะท้อนการเติบโตปริมานธุรกรรมที่ทำผ่านช่องทางดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยปี 2558 มีจำนวนธุรกรรมอยู่ที่ 1,135 ล้านรายการ ซึ่งคาดว่าธุรกรรมจะเพิ่มเป็น 7,900 ล้านรายการ ในปี 2563 ขณะที่ธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารคาดว่าในปี 2563 จะลดลงเหลือ 153 ล้านรายการ จากปี 2558 อยู่ที่188 ล้านรายการ ส่วนมูลค่าธุรกรรมที่ผ่านช่องทางดิจิตอลแบงกิ้งจะเพิ่มจาก 4 ล้านล้านบาท เป็น 30 ล้านล้านบาทหรือเติบโตประมาณ 10 เท่า ภายในปี 2563

 SCB ลงทุน Ripple

ฟากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้งบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ดึงนายธนา เธียรอัจฉริยะ มานั่งเป็นแม่ทัพใหญ่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดิจิตอลแบงกิ้ง ผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโต โดยมีเงินลงทุนใน Financial Technology จำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,760 ล้านบาท หลังจากปีที่แล้วได้ลงทุนใน Ripple บริษัทให้บริการโซลูชันด้านการชำระเงินชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา มีการริเริ่มลงทุนและทดลอง Fintech บน Blockchainเพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมโยงกับธนาคารชั้นนำของโลก อาทิ Standard Chartered, Royal Bank of Canada (RBC) ฯลฯ

 BBL ขยับตัวผนึกกำลัง R3

ด้านธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ก็เริ่มขยับตัว โดยถือเป็นธนาคารแห่งแรกในไทยที่ร่วมจับมือกับกลุ่ม R3 (R3 Consortium) ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้าน Fintech มีสถาบันการเงินชั้นนำของโลกกว่า 55 แห่งเป็นสมาชิก เพื่อร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมการเงิน แอพพลิเคชัน และเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ๆ รองรับบริการทางการเงินในอนาคต

 BAY ผนึก RISE ปล่อยกู้ผ่านแอพ

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ปรับโครงสร้างสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ ชื่อ "Commercial Digital Solution" เน้นการโฟกัสดิจิตอลแบงกิ้งมาร์เก็ตติ้ง และโซเชียลมีเดียยังร่วมมือกับ RISE ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจสตาร์ตอัพ ภายใต้โครงการ "Krungsri RISE Fintech Accelerator" ลักษณะความร่วมมือต่อยอดองค์ความรู้และการลงทุน ฟินเทคสตาร์ตอัพ รับรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกระแสเทคโนโลยี

โดยตั้งเป้าไตรมาสที่ 2 ธนาคารจะออกโมบายแอพพลิเคชันการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หรือที่เรียกว่า E-Application สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และการจับมือฟินเทค 2 ราย เพื่อให้บริการโอนเงินข้ามชายแดน รวมถึงการลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอล วงเงินที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,050 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ โดยจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุน Fund to Fund และขยายต่อไปยังฟินเทคที่สามารถทำธุรกิจในภูมิภาคอนุลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV)

ปีทองธุรกิจสตาร์ตอัพ

ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัพก็เริ่มจุดติดในปี 2559 สะท้อนจากที่นายวัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ให้ข้อมูลว่าธุรกิจดังกล่าวเติบโตไม่ต่ำกว่า 300 % คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,800 ล้านบาท การลงทุน 70% มาจากนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่น

ส่วนปี 2560 เขามองว่าธุรกิจสตาร์ตอัพจะเกิดขึ้นอีกมาก คาดการณ์มีลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยสตาร์ตอัพที่ได้ระดมทุนรอบซีรีส์B หลายราย (เงินทุน 2 -15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 72- 540 ล้านบาท) อาทิ อุ๊คบี ที่ระดมทุนรอบซีรีส์B ไปแล้ว 200 ล้านบาท จะมีการระดมทุนเพิ่มในรอบซีรีส์ C (เงินลงทุนสูงสุดระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท)

นอกจากนี้จะเห็นความหลากหลายของธุรกิจ และจะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าสู่สตาร์ตอัพ มากขึ้น เช่น ภาคเกษตรหรือขายสินค้า ขณะเดียวกันยังเห็นการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น ตัวอย่าง กรณีของบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯนายวัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ รองกรรมการผู้จัดการ คาดว่าปี 2560 จะสรุปการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพแนวธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและแอพพลิเคชัน มีมูลค่าการลงทุน 1-10 ล้านบาท ต่อบริษัท คาดว่าจะเริ่มเห็นรายได้ในธุรกิจดังกล่าว 2-3 ปีหลังการลงทุน

 ปฏิวัติจ่ายเงินมือถือ

นอกจากนี้ผลพวงจากการผลักดันนโยบายพร้อมเพย์ของรัฐบาล ส่งผลต่อบริการโมบาย เพย์เมนต์ ที่บรรดาค่ายมือถือ คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทฯในเครือให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ "ทรูมูฟเอช" ทั้ง 3 ค่ายมีแผนขับเคลื่อนเรื่องโมบาย เพย์เมนต์ อีกครั้งหนึ่งโดยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

ประเมินปี 2560 การทำธุรกรรมผ่านโมบาย เพย์เมนต์ ตลาดมีความเคลื่อนไหว มากขึ้น พร้อมๆ กับที่ผู้ให้บริการในต่างประเทศกำลังเข้ามาทำตลาด ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของการใช้งาน ดังนั้นภายใน 3-5 ปี ข้างหน้าการจ่ายเงินแบบ โมบาย เพย์เมนต์ จะเริ่มเข้ามาแทนที่เงินสดในการซื้อของเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากร้านค้าบางแห่งเริ่มให้บริการจ่ายเงินผ่านแอพ เพื่อสะสมแต้มได้แล้ว

ขณะที่คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) กำหนดเป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อประชากรเป็น 50 และ150 รายการ/คน/ปี ในปี 2559 และ 2563 ตามลำดับ

 การตลาด 4.0 ร้อนแรง

ในส่วนของภาคการตลาดแม้ในปี 2559 "การตลาด 4.0" (Marketing 4.0) ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ในปี 2560 "การตลาด 4.0" จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแน่ ด้วยทิศทางการเติบโตของธุรกิจที่เป็นการผสมผสานทั้งเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เทคโนโลยี (Technology) และองค์ความรู้ (Knowledge) ทำให้นักการตลาดต้องสรรหากลยุทธ์ และแนวทางการทำตลาดรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึง รับรู้ ซื้อสินค้าและจงรักภักดีต่อแบรนด์

การตลาดในยุคดิจิตอล หรือดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง จะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับดิจิตอล เทคโนโลยี เพื่อให้ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ เครื่องมือที่นำมาใช้จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจง่าย เข้าถึงสะดวก และให้ผลลัพธ์มากกว่า 1

อย่างไรก็ดีเครื่องมือทางการตลาดจะถูกใช้ผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นกูลเกิลเฟซบุ๊กอินสตาแกรม ทวิสเตอร์ ฯลฯ มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองจำเป็นจะต้องเรียนรู้การนำข้อมูล ของกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง มาปรับใช้ให้กลายเป็นสมาร์ทดาต้า และนำข้อมูลนั้นมาจัดเป็นแคมเปญตอบโจทย์ลูกค้า ขณะที่ลูกค้าบางกลุ่มชอบที่จะค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ชอบดูสินค้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากกว่าดูจากของจริง หรือเลือกที่จะฟังและสัมผัสสินค้าจากร้านค้า แต่ตัดสินใจซื้อผ่านเว็บเพราะได้ราคาที่ถูกกว่า สมาร์ทดาต้าเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น แต่ได้ผลตอบรับที่มากกว่าการทำตลาดรูปแบบเดิม

การตลาด 4.0 จึงไม่ใช่การทำตลาดในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นเชิงเดี่ยว อย่างออฟไลน์ มาร์เก็ตติ้งหรือออนไลน์ มาร์เก็ตติ้งอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการหลอมรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน และต้องเรียนรู้ว่าจะเลือกใช้ในช่วงเวลาใด สถานที่ใด กับใคร ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบรับสูงสุด ซึ่งเริ่มมีการนำไปใช้ในหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ค้าปลีก เป็นต้น

ดีกรีความร้อนแรงของ "การตลาด 4.0" จะโดดเด่นและชัดเจนมากในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560