สศอ.เผย MPI ขยายตัวร้อยละ 3.8 สูงสุดในรอบ 43 เดือน

29 ธ.ค. 2559 | 06:42 น.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 43 เดือน ทำให้ 11 เดือนแรกของปี 2559 MPI ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เป็นบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง น้ำมันปิโตรเลียม

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 11 เดือนแรกของปี 2559 มีการขยายตัวร้อยละ0.4  ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมของเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง น้ำมันปิโตรเลียม และรถยนต์

สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่วนเหล็กแผ่นชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นในเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูง และการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในกลุ่มยานยนต์เพื่อเตรียมผลิตรถยนต์หลังจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจาก Other IC และ Monolithic ตามความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ในสินค้าประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในสินค้าประเภท sensor, analog และmicroprocessor

อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปลาแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และปลาหมึกแช่แข็ง จากการส่งออกตามความต้องการบริโภคในตลาด USA และ ญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงสามารถแก้ปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งได้ดี จึงมีวัตถุดิบเพื่อผลิตมากขึ้น

น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันก๊าด จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาก๊าซ  NGV และ LPG ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

รถยนต์ การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่

เม็ดพลาสติก การผลิตเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 19.10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต LLDPE ,HDPE และ PP ที่ลดลงเนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร

แก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว การผลิตเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 14.56 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตกระจกแผ่นลดลง เนื่องจากมีการปิดซ่อมบ ารุงเตาหลอมโรงงาน

น้ำดื่ม การผลิตเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 12.87 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากน้ำอัดลม และน้ำโซดา เนื่องจากอยู่ในช่วงไว้อาลัย และงดงานรื่นเริงต่างๆ