สธ.ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ  จัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในสถานบริการและชุมชน

23 ธ.ค. 2559 | 04:32 น.
กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดขับเคลื่อนบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในสถานบริการและชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  ให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม  ตั้งเป้าลดขยะเกิดใหม่ 2.6 ล้านตัน/ปี นำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 5.7 ล้านตัน/ปี ขยะของเสียอันตรายชุมชน มูลฝอยติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 3.6ล้านตัน/ปี

วันนี้ ( 23 ธันวาคม 2559 ) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “มูลฝอยติดเชื้อ วาระแห่งชาติ”(Infectious Waste National Agenda)เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไกขับเคลื่อนนโยบายและ best practice จากจังหวัดต้นแบบการจัดการมูลฝอยแบบศูนย์รวม  โดยมีบุคลากรสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมจำนวน 500 คน พร้อมมอบเกียรติบัตรให้โรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบการดำเนินงานการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวมใน 12 เขตสุขภาพ

นายแพทย์โสภณ  กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการแบบบูรณาการ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลประเด็นสำคัญการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณ แผนงานบูรณาการขยะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 กระทรวง 19 หน่วยงาน เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยในปี 2559 ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้านขยะและสิ่งแวดล้อมให้กับทุกจังหวัดในส่วนภูมิภาค และขับเคลื่อนการดำเนินงานต้นแบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม  ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศพ.ศ.2559-2564

โดยให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งบูรณาการการจัดการมูลฝอยและของเสียอันตราย การจัดการมูลฝอยติดเชื้อและการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล (GREEN&CLEEN Hospital)ตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตั้งแต่การคัดแยกที่แหล่งกำเนิด รวบรวมขนย้ายไปรอกำจัดที่เรือนพักมูลฝอยติดเชื้อ  และรวมไปถึงการมีระบบรวบรวม ขนส่ง มูลฝอยติดเชื้อมาโรงพยาบาลเพื่อรอกำจัด มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขยะเกิดใหม่ 2.6 ล้านตัน/ปี สามารถนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 5.7 ล้านตัน/ปี และขยะของเสียอันตรายชุมชน มูลฝอยติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 3.6ล้านตัน/ปี โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สร้างความรู้ สร้างความตระหนัก มีข้อมูล ระบบฐานข้อมูล สารสนเทศ และการบำรุงรักษา และเทคโนโลยี การกำกับ ติดตาม และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายและการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำหนดมาตรการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  4 มาตรการ ดังนี้ 1.ระบบข้อมูลและเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ 2.ระบบป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงโดยมีการบริหารจัดการมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ 3.บริการอาชีวอนามัยและเวชกรรม และการดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงผู้ที่ได้รับผลกระทบ  4.กฎหมายและระบบบริหารจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม