ชงบูรณาการทีวีดิจิตอลรวบภาคส่ง-โครงข่าย-ภาครับเร่งเปลี่ยนผ่านฉลุย

25 ธ.ค. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยิ้มรับ แผนเยียวยาคสช. ยืดระยะเวลาจ่ายค่างวด แนะควรบูรณาการให้ครบเบ็ดเสร็จทั้งภาคส่ง โครงข่ายสัญญาณ และภาครับ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านให้บรรลุผลสำเร็จ ย้ำ 4 ปัจจัยเฝ้าระวังในปี 60

หลังรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลกว่า 10 ราย ล่าสุด คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งเรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขยายระยะเวลาในการการชำระค่าใบอนุญาตในการประมูลราคาขั้นต่ำจากเดิมกำหนด 4 งวดๆละ 1 ปีชำระแล้ว 3 งวด เหลืออีก 1 งวด สามารถยื่นแบ่งชำระเป็น 2 งวด ในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี สำหรับราคาส่วนเกิน กำหนดให้จ่าย 6 งวด จ่ายไป 3 งวด เหลืออีก 3 งวด สามารถยื่นแบ่งชำระ 6 งวด ในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปีเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักที่ผู้ประกอบการเรียกร้องไป

โดยนายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พอใจกับรัฐบาลที่ใช้มาตรา 44 เยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ด้วยการยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จากเดิม 6 ปี ออกไปเป็น 9 ปี หรือจากงวดที่ 4-6 เดิม 3 ปี เป็น 6 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ว่าจะยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ อีกหลายข้อที่ยังไม่ได้รับการพิจาณา อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ทีวีดิจิตอลทุกช่องจะต้องนำรายได้ประจำปีก่อนหัวค่าใช้จ่าย ส่งเข้ากองทุนพัฒนาสื่อในอัตรา 2% ที่ได้ยื่นข้อเสนอขอให้คิดในอัตรา 1% หรือคิดแบบอัตราขั้นบันไดจากน้อยไปหามาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าในกระบวนการพัฒนาธุรกิจทีวีดิจิตอลนั้น ภาครัฐควรดำเนินการให้ครบกระบวนการทำงาน ทั้งในส่วนของภาคส่ง หรือผู้ประกอบการ ภาคโครงข่ายสัญญาณ และภาครับ หรือประชาชนผู้ชมทีวีดิจิตอล ซึ่งต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้นยังไม่ครบทุกด้าน

นายเขมทัตต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนภาครับที่เป็นประชาชนปัจจุบันยังพบว่ากว่า 60-70% ของประชากรที่มีโทรทัศน์ในรุ่นเดิม ซึ่งไม่สามารถแมทช์กับกล่องทีวีดิจิตอลได้ ทำให้การรับสัญญาณภาพทีวีดิจิตอลในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม บางแห่งไม่สามารถรับสัญญาณได้ และบางแห่งสัญญาณที่รับไม่เสถียร จึงอยากให้กสทช. หารือกับผู้ประการในส่วนของผู้ผลิตโทรทัศน์ ในการเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนโทรทัศน์ในรูปแบบเดิมให้เป็นระบบทีวีดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีการนำเสนอให้รัฐบาลจัดเป็นแคมเปญ ช็อปช่วยชาติ ขึ้น หรือมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สำหรับคูปองที่รัฐบาลแจกให้กับประชาชน ให้นำมาแลกเป็นโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังรับทราบข้อมูลไม่ทั่วถึง

"คูปองส่วนใหญ่จะถูกนำไปแลกกล่องทีวีดิจิตอล เมื่อนำมาใช้กับโทรทัศน์ซึ่งยังเป็นรุ่นเก่า ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณได้ ทั้งๆ ที่คูปองสามารถนำไปแลกโทรทัศน์รุ่นใหม่ได้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐอาจจะต้องทำงานร่วมกับผู้ผลิตหรือสภาอุตสาหกรรม เพื่อเข้ามาทำแคมเปญการตลาดช่วย เช่น การผ่อน 0% เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้มีการคุยกันนอกรอบแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนออย่างเป็นทางการ หากทำได้จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นเป็นระบบครบในทุกกระบวนการ"

ส่วนแนวโน้มธุรกิจทีวีดิจิตอลในปี 2560 นั้น มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง 4 ประการ หลังจากมีการดำเนินการตามม.44 แล้ว คือ 1. การเซกเมนต์ตัวเองของแต่ละช่องจะมีความชัดเจนขึ้นมากน้อยเพียงไร 2.เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร การแข่งขันของช่องทางเว็บไซต์ และออนไลน์จะมีแชร์ส่วนแบ่งของทีวีดิจิตอลหรือไม่ 3. การพัฒนาคอนเทนต์ยังคงต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์ และต้องดึงดูดผู้ชมให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณรายการและสถานีมีมากกว่าความต้องการ และ4. เงินทุนที่ได้รับการชะลอการจ่ายออกไป จะถูกนำมาพัฒนาคอนเทนต์ของรายการมากน้อยเพียงใด

ด้านนายโกศล สงเนียม ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า แนวทางเยียวยาครั้งนี้ เปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้สิทธิในการขยายระยะเวลาการจ่ายค่างวดหรือจะจ่ายเงินค่างวดตามเดิมก็ได้ ซึ่งจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี โดยผู้ที่ต้องการขยายระยะเวลาการจ่ายค่างวดจะต้องแสดงความจำนงต่อกสทช. ขณะที่ข้อเสนออื่นๆ ทั้งเรื่องของการลดค่าโครงข่าย การแจกคูปอง การประชาสัมพันธ์ ยังต้องการให้กสทช. เข้ามาดูและผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป เพราะถือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่าย อีกทั้งในปีหน้าจะเริ่มระบบการวัดเรตติ้งใหม่ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 7-8 ล้านบาทต่อปี แม้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่างวดได้ แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปีด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25-28 ธันวาคม 2559