ตลาดหลักทรัพย์ฯเผยรายชื่อหุ้นในดัชนีใหม่ sSET เริ่มเผยแพร่ครั้งแรก 4 ม.ค.60

21 ธ.ค. 2559 | 10:56 น.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยรายชื่อ 102 หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายต่อเนื่องเข้าเป็นองค์ประกอบดัชนีใหม่ “sSET Index” เพิ่มเติมจากดัชนี SET50 และ SET100 ที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็น benchmark index สำหรับการลงทุนและสามารถต่อยอดใช้เป็นดัชนีอ้างอิงเพื่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคต เตรียมเผยแพร่อย่างเป็นทางการ 4 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยจะทบทวนรายชื่อทุก 6 เดือน

ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยปัจจุบันมีจำนวน 522 บริษัท ขณะที่ดัชนีหลักที่มีอยู่คือ SET50 และ SET100 ซึ่งสะท้อนหลักทรัพย์ขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง แต่ยังจำกัดจำนวนอยู่เพียง 100 บริษัท ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้ลงทุนสถาบันมีการลงทุนในกลุ่มหุ้นนอก SET100 มากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพัฒนาดัชนีใหม่ “sSET Index” (เอสเซ็ท) เพิ่มเติม เพื่อสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาและให้ความสำคัญกับหุ้นกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการพัฒนาดัชนีในต่างประเทศ

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังให้หุ้นในดัชนี sSET เป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยผู้ลงทุนสามารถนำดัชนี sSET ไปใช้เป็น benchmark index เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และในอนาคตอาจพัฒนานำไปใช้เป็นดัชนีอ้างอิงเพื่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังส่งเสริมให้มีข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับดัชนี sSET จะถูกนำมารวมคำนวณในดัชนีทั้งหมด โดยไม่ได้จำกัดจำนวนเหมือนดัชนี SET50 และ SET100 โดยรายชื่อหลักทรัพย์ในครั้งแรกเพื่อใช้คำนวณดัชนี sSET ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 (มกราคม-มิถุนายน 2560) มีจำนวน 102 หลักทรัพย์” ดร. รินใจกล่าว

การคัดเลือกหุ้นที่ใช้คำนวณในดัชนี sSET นั้น โดยสรุปจะพิจารณาจาก 1) ขนาดของหุ้น โดยคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ในช่วงที่กำหนด คืออยู่ในลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90-98 เมื่อเรียงลำดับหุ้นทั้งตลาดตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสะสมจากมากไปน้อย (90th-98th percentile ranked by cumulative market capitalization) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เทียบเคียงได้กับแนวทางของต่างประเทศ 2) ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) อย่างน้อย 20% และ 3) เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในแต่ละเดือนต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 0.5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 9 เดือนจาก 12 เดือนในช่วงที่พิจารณา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการทบทวนรายชื่อทุก 6 เดือน

a1221-1