รุมค้าน‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ อุ่นเครื่องสู่สนามเลือกตั้ง เชื่อป้องกันแทรกแซงยาก

23 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
ทันทีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ร่าง พ.ร.ป.กกต.)เบื้องต้น มีเสียงรุมคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ กรธ.ในหลายประเด็น แต่ที่ดุเดือดมากที่สุด คือ การยุบกกต.จังหวัด แล้วตั้ง“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง”ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

โดยในรายงานสรุปสาระสำคัญร่างพ.ร.ป.กกต.ที่เผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไว้ดังนี้

ในการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว.แต่ละครั้ง ให้กกต.จัดให้มี ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(คณะกรรมการ กกต.) หรือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการ กกต.หรือกกต.ทราบโดยเร็ว

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการออกเสียงประชามติหรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการกกต.จะสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ (มาตรา 26)

การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง คณะกรรมการกกต.จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดๆละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามจำนวนที่เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่ครบทุกจังหวัด โดยจัดทำบัญชีรายชื่อขึ้นไว้บัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ใช้ได้เป็นเวลาตามที่คณะกรรมการกกต.กำหนดแต่ไม่เกิน 5 ปี

ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง เป็นบุคคลที่เชื่อได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสี่อมเสีย และต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกกต.กำหนด และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งยังไม่เป็นผู้มีคู่สมรส ผู้สืบสันดาน หรือผู้บุพการี เป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 27)

เมื่อมีกรณีที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการกกต.ดำเนินการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้จัดทำไว้ จังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยให้กกต.ที่คณะกรรมการกกต.ทำการจับฉลากรายชื่อบุคคลจากบัญชีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่จะแต่งตั้งจำนวน 2 คน และจับฉลากรายชื่อบุคคลจากบัญชีที่มิได้มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้งจนครบจำนวน

จากเนื้อหาสาระข้างต้นเกิดเสียงคัดค้านจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.วิเคราะห์เอาไว้อย่างเผ็ดร้อนว่า หากยึดคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งในร่างฉบับนี้ มีผู้เข้าข่ายสามารถเป็นได้คือ นักธุรกิจหรือลูกจ้างเอกชน เอ็นจีโอ ข้าราชการหรือคนที่เกษียณ และคนที่ยังไม่มีงานทำซึ่งสุดท้ายจะเหลือเพียงข้าราชการหรือคนที่เกษียณ และคนว่างงานที่จะสามารถเข้ามาทำงานได้เพราะ 2 กลุ่มแรกไม่มีเวลา

ส่วนการปฏิบัติงานที่กำหนดให้ต้องจับสลากนั้น สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในภูมิลำเนาของตนเองนั้น หากต้องถูกส่งไปทำงานเป็นเวลาหลายเดือน อาจไม่พร้อมขาดความรู้ความเข้าใจในพื้นที่ รวมถึงลักษณะวัฒนธรรมทางการเมืองและภาษา
ขณะที่ความรับผิดของผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งมิใช่พนักงานของสำนักงานกกต.ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยให้ออกจากราชการได้ดังนั้น โอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะซื้อตัวจึงเป็นไปได้แต่หากถูกจับได้ก็ให้ออกจากตำแหน่งที่ดำรงตำแหน่งในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นจึงไม่ใช่กลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้

ด้านนายประวิช รัตนเพียร กกต. ให้ความเห็นเช่นกันว่า กกต.จังหวัดยังมีความจำเป็นเพราะช่วยจัดการเลือกตั้งและติดตามงานต่างๆได้ ที่ระบุว่า ไม่อยากให้มี กกต.จังหวัด เพราะเกรงว่ามีปัญหาความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งพูดกันโดยไม่มีหลักฐาน ทาง กรธ.จึงหาทางออกโดยไม่ให้มีกกต.จังหวัด แต่ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน เป็นทางเลือกในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หากในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต้องการความเห็นเพิ่มเติม ทางกกต.ก็พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูล

ส่วน นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ปี 2540 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้มุมมองว่า ทั้งกกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้งต่างไม่ตอบโจทย์เพราะถูกวางตัวให้มุ่งจับผิดเรื่องทุจริตเลือกตั้งเป็นสำคัญจนทำให้เป้าหมายที่สำคัญกว่า อาทิ การเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ การอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนความเป็นอิสระเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองถูกมองข้ามไป

ขณะนี้ร่างพ.ร.ป.กกต.ถือว่าอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความผิดเห็นฝ่ายต่าง ๆ ส่วนประเด็น “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ซึ่ง กรธ.คิดค้นขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด แทน “กกต.จังหวัด” และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จะมีการทบทวนในชั้น กรธ. หรือ สนช.หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,220 วันที่ 22-24 ธันวาคม 2559