สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯวาระ 2 และ 3

16 ธ.ค. 2559 | 09:50 น.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดสมาชิกประชุม ครั้งที่ 81/2559 ในเวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่ประชุม สนช.วันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเสียง 168 เสียง งดออกเสียง 5  เสียง

BCM_6639 ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีชาวเน็ตไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และร่วมกันลงชื่อคัดค้านเป็นจำนวนมาก

BCM_6661

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แถลงข่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า  ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับประเด็นที่สังคมห่วงใยว่าอาจไปละเมิดสิทธิของบุคคล หรือปิดกั้นการแสดงออก ซึ่งการเข้านำข้อมูลเพื่อการหลอกลวงจะไม่รวมถึงเรื่องการดูหมิ่นให้ได้รับความเสียหาย กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฏหมายอาญา และเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจได้ง่ายเกินไป ได้มีการแก้ไขให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์  จากเดิม 5 คน เป็น 9 คน โดยมีผู้แทนจากภาคประชาชนร่วมด้วย เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ รับฟังทุกความคิดเห็น ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่มีการพิจารณาวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า  สนช และ รัฐบาล ควรถอนร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ออกไปก่อน เพื่อนำไปทบทวนจุดอ่อนและผลกระทบไม่พึงประสงค์ แม้นตัวกฎหมายใหม่มีข้อดีอยู่บ้างและมีเป้าหมายปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การดำเนินนโยบาย มาตรการหรือออกกฎหมายใหม่ใดๆที่สอดคล้องโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันและพลวัตโลกอนาคต ต้องเน้นผ่อนคลายกฎระเบียบ สร้างระบบแรงจูงใจ แทนการออกระเบียบควบคุมเข้มงวด ซึ่งก็จะควบคุมไม่ได้อยู่ดีและมีผลกระทบทางลบข้างเคียงมากต่อนโยบาย Digital Economy และ Digital Thailand รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อ e-banking และ e-Payment ได้ในอนาคต เนื่องจากโลกมีลักษณะไร้พรมแดนมากขึ้นทุกวันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ICT  ยิ่งควบคุมจะยิ่งควบคุมไม่ได้ เพราะจะย้ายไปต่างประเทศกันหมด เพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ การผ่อนคลายกฎระเบียบ สร้างระบบแรงจูงใจและการเปิดเสรีจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต่อการลงทุนมากกว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Website และ ธุรกิจออนไลน์ต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ ICT ทำให้ยุทธศาสตร์ Digital Economy และ Digital Thailand ไม่บรรลุเป้าหมายจะไม่มีใครมาลงทุนตั้ง เซิร์ฟเวอร์ (Server) ในเมืองไทย เซิร์ฟเวอร์ในเมืองไทยเมื่อถูกปิดกั้นและควบคุมมากเกินไปจะไม่มีคนใช้ บรรดาผู้ประกอบการก็ต้องย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปอยู่ในต่างประเทศ  นอกจากนี้ บรรดาผู้เผยแพร่ข้อมูลผิดกฎหมายก็อาจป้องกันได้ไม่มากเพราะกลุ่มนี้ก็จะย้ายปฏิบัติการไปอยู่ต่างประเทศ ข้อมูลผิดกฎหมายเหล่านี้ต้องตอบโต้ด้วยการชี้แจงด้วยเหตุผลด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง การแก้ปัญหาต้องไปจัดการกับต้นกำเนิดและสาเหตุของปัญหาว่า ทำไมจึงมีการเผยแพร่ข้อความหรือข้อมูลผิดกฎหมาย?

นอกจากนี้ เนื้อหาของ พ.ร.บ. คอมฯฉบับใหม่ (มาตรา 5, 7, 17, 20) ยังเปิดช่องทางให้มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการรายงานข้อเท็จจริง กระบวนการในการปิดโซเชียลมีเดีย(Social Media)ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรี (ไม่ใช่อำนาจศาล)  อันเป็นอุปสรรค ต่อ ระบบการศึกษา การวิจัย และ กระทบต่อการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ได้ นวัตกรรมด้านต่างๆไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมหรือในประเทศที่มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร หรือ ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพทางวิชาการ

อย่างไรก็ตาม จึงเสนอให้มีการถอนร่างกฎหมายและนำมาทบทวนอีกครั้ง เมื่อกฎหมายคอมฯใหม่ที่ได้รับการแก้ไขประเด็นต่างๆในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพในการแสดงความเห็น และ กระบวนการการพิจารณาการลงโทษที่ผ่านกระบวนการศาล แล้ว ก็จะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ทางด้านความมั่นคง เป็นกลไกเครื่องมือป้องกันปัญหาลิขสิทธิ์ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันปัญหาการฉ้อโกง การกระทำความผิดทางกฎหมายออนไลน์และการพนันออนไลน์ได้ หรือ การแก้ปัญหาสแปมหรือการส่งข้อความอันไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของประชาชน รวมทั้งไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy)