‘อัครา’ครวญเสียหาย 3 หมื่นล. หลังรัฐงัด ม.44 ปิดเหมืองทอง

18 ธ.ค. 2559 | 05:00 น.
ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบัวชั่วคราว สั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และให้เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย

เหมืองทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร เป็นสัมปทานของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากคำสั่งฉบับนี้

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดใจกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจสปริงนิวส์” ต่อคำสั่ง มาตรา 44 ดังกล่าวว่า ยื่นยันว่า อัครา จะไม่มีการฟ้องร้องใดๆ กับการออกคำสั่งนี้ “ผมพูดมานานแล้วว่าเรื่องฟ้องเป็นเรื่องที่เราคิดทีหลังสุด เพราะเวลานี้ยืนยันว่าไม่มีทิศทางในการเรื่องนั้น แต่จะมีการประชุมหารือกัน ซึ่งใช้เวลาพอสมควร คงไม่ได้คุยกันวันเดียวแล้วจะมีข้อสรุป”

ส่วนผลกระทบจากคำสั่ง มาตรา 44 นายเชิดศักดิ์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้อัครา ได้รับแจ้งว่ายังรอการพิจารณาการต่อใบอนุญาต บริษัทก็เตรียมการเพราะยังไม่มีความชัดเจนจึงต้องเลิกจ้างพนักงานไปก่อน ก็ทยอยปลดพนักงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ประมาณ 30-50 คน แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดจะเป็นวันที่ 31 ธันวาคมนี้ จากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 950 คน ก็เลิกจ้าง 900 คน จะเหลือพนักงานประมาณ 50 คน

สำหรับการดูแลพื้นที่ บำรุงรักษาเครื่องมือไม่ให้เสียหาย และทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบริษัทเล็ก-ใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้างช่วงอีกประมาณ 300 บริษัท ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ยืนยันว่าบริษัทจะชดเชยเยียวยาพนักงานทุกคนตามกฎหมาย และยังมีเพิ่มเติม คือโบนัสที่จะจ่ายตามผลงานที่มีการประเมินเอาไว้

ส่วนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ของอัครา ก็คงยืนยันว่าจากประทานบัตรจะหมดอายุปี 2571 จึงเน้นมาตลอดในเรื่องของการพบกันเพื่อพูดคุย หาทางออกร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ชุมชนในพื่นที่รอบเหมืองและตัวบริษัทเอง คนประมาณ 80% จากจำนวนเกือบพันคน คือคนในพื้นที่ การปิดตัวลงไปเป็นการชั่วคราวส่งผลกระทบรุนแรงกับชุมชนในพื้นที่ รวมถึงจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก

R39-321902 “ส่วนความเสียหายของอัคราในเชิงธุรกิจเรายังไม่ได้สรุปกัน เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อเนื่อง ประเมินจากตัวประทานบัตรที่เหลืออายุอยู่ สินแร่ที่มีอยู่ กับกระบวนการทำเหมืองก็ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีการปิด เรามีแผนไว้แล้วว่าเราจะลงทุนอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และมีการประเมินกันว่าเศรษฐกิจในจังหวัดพิจิตรจะได้รับผลกระทบประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน เพราะธุรกิจร้านอาหาร โรงกลึง โรงหล่อ โรงเลื่อย ปั๊มน้ำมัน โรงแรม จะได้รับผลกระทบจากการปิดเหมือง ซึ่งเรื่องแบบนี้ส่วนกลางอาจจะมองไม่เห็นเท่าไรนัก”

นายเชิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า ณ ตอนนี้ อัครายังไม่ได้มีการหารือกับ บริษัทแม่ คือ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ยืนยันว่า 1.อัครา เราเคารพกฎหมาย 2.หาโอกาสพูดคุยและหาทางออกร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

ขณะที่แนวทางดำเนินการต่อไปหลังจากนี้นั้น นายเชิดศักดิ์ ชี้แจงว่า ต้องมาไล่ดูว่าแต่ละข้อแต่ละประเด็นจากคำสั่งฉบับนี้มีสาระอย่างไรบ้าง และยังยืนยันว่าจะพยายามหาทางพบปะพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
เมื่อถามว่าคำสั่ง มาตรา 44 เขียนเปิดช่องว่า จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น แบบนี้ อัครา จะใช้ช่องทางนี้อย่างไร นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า หวังว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะรอข้อสรุปจากคณะกรรมการที่ตั้งไว้แล้ว จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร และนำเรื่องนี้ไปประมวลประกอบการพิจารณา โดยคำนึงทุกด้านทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายเชิดศักดิ์ ยังเล่าย้อนถึงการทำงานในคณะกรรมการที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขอยู่ด้วยว่า ที่ประชุมชุดนี้พูดคุยกันมาปีกว่าแล้ว โดยรายงานผลกระทบด้านสุขภาพยังไม่แล้วเสร็จ ที่มีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน แต่เว้นมาหลายเดือนแล้ว ไม่ทราบว่ามีอะไรทำให้ช้า ส่วนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมออกมาแล้วมีข้อสรุปชัดเจนว่าตลอดเวลา 15 ปี ค่าต่างๆ ด้านดิน น้ำ น้ำบาดาล อากาศ พืช ผักผลไม้ในพื้นที่ ทุกอย่างไม่มีอะไรที่เป็นพิษภัย ค่าต่างๆ ยังเท่าเดิมตลอด พืชผักในพื้นที่ปลอดภัย ทานได้ตามปกติ ซึ่งมีเอกสารราชการยืนยัน

ซึ่งรายงานของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทำรายงานเสร็จแล้ว รอเวลาเข้าพิจารณาในคณะกรรมการที่ลำดับสูงขึ้นไปอีกครั้ง อย่างน้อยก็น่าจะยืนยันได้ว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราได้เห็นและมีส่วนร่วมกับทางภาครัฐค่อนข้างชัดเจนว่าเราไม่ได้ทำผิดอย่างที่มีคนสงสัย และนอกจากนี้ อัครายังมีมาตรการติดตามสิ่งแวดล้อม ที่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบทุกสามเดือน เก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ข้อมูล ก็ยังยืนยันว่า 15 ปีที่ผ่านมา เรามีข้อมูลตัวเลข ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่คณะทำงานมีอยู่

ดังนั้นเรามั่นใจว่าด้านสิ่งแวดล้อมเราไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างที่มีนัยสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งโรคที่มีการพบในพื้นที่ยังไม่มีโรคใดสามารถเชื่อมโยงกับอัครา ได้ ทั้งสารพิษ สารโลหะ สารหนู แมงกานีส

ส่วนความหวังว่าจะมีการแก้ไขคำสั่งใน มาตรา 44 หรือไม่ นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า เราก็ยังมีความหวังของเราลึกๆเสมอ เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เรายึดมั่นในการทำธุรกิจ ระบบงานทุกอย่างได้รับการรับรองจาก ISO9001 ISO14000 ISO18000 ซึ่งถ้าเป็นคนในวงการอุตสาหกรรมเห็นสิ่งเหล่านี้ จะทราบว่าการตรวจติดตามเป็นไปอย่างเข้มข้น

“หวังลึกๆ ว่าเราจะสามารถพิสูจน์ได้ ว่าสิ่งที่เราทำมาถูกต้อง มีมาตรฐานและไม่ทำให้เกิดผลร้ายกับใคร ก่อให้เกิดเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด และประเทศโดยรวมด้วย”

คำสั่งหัวหน้า คสช. ระงับ 2 เหมืองทอง ‘อัครา-ทุ่งคำ’

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ปัจจุบันกรม ออกประทานบัตรเหมืองทองคำให้ผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ระงับการทำเหมืองทั้ง 2 ราย คือ 1.บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอายุประทานบัตรถึงปี 2571

2.เหมืองทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) มีอายุประทานบัตรถึงปี 2570-2571 รวม 6 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1,290 ไร่ โดยบริษัททุ่งคำ อยู่ระหว่างยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้ แต่ที่ผ่านมาถูกชุมชนต่อต้านและมีปัญหาในการทำประชาคมรับฟังความเห็นชุมชน เพื่อประกอบคำขอใช้พื้นที่ป่า จึงทำให้ช่วงนี้บริษัททุ่งคำต้องรอใบอนุญาตนี้ จึงจะเริ่มทำเหมืองอีกรอบ
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ระงับการทำเหมือง แต่ไม่ได้เพิกถอนประทานบัตร ซึ่งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่หลังจากนี้ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำหลายราย แต่ต้องรอการกำหนดนโยบายเหมืองแร่ทองคำจากรัฐบาล โดยมีบริษัทเหมืองแร่จากออสเตรเลียที่ยื่นคำขอ เช่น บริษัทอ็อกเซียน่า รีซอร์สเซสฯ รวมถึงผู้รับประทานบัตรในปัจจุบันก็ยื่นคำขอสำรวจ เช่น บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ทำให้กรม ไม่ได้ออกประทานบัตรเหมืองทองคำมาตั้งแต่ปี 2550

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559