ผู้ว่าฯกทม.เปิดอกคุย ลุยรถไฟฟ้าแก้จราจร–ไม่มีนํ้ารอระบายบริหารงบ 7.6 หมื่นล.โปร่งใส

19 ธ.ค. 2559 | 01:00 น.
ผ่านไป 2 เดือนเต็มสำหรับการบริหารกรุงเทพมหานครของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ล่าสุดประกาศนโยบาย “ผลักดันทันใจ...แก้ไขทันที NOW!” กับ1ภารกิจพิเศษ 5นโยบายทันใจ 19ภารกิจผลักดันทันที

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ถึงภารกิจหลักๆดังนี้

สานต่อรถไฟฟ้าแก้จราจร

ผู้ว่าฯกทม. ตอกย้ำนโยบายว่าการแก้ปัญหาจราจรในกทม.เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน 1ในนโยบายที่ ประกาศไว้ ทำอย่างไรให้คนกรุง เดินทางได้สะดวกรวดเร็วสู่จดหมายจากระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่สะดวก เพียงพอ ปลอดภัยการจัดระเบียบเส้นทาง ร่วมกับตำรวจจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนขณะเดียวกันรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.ต้องดำเนินการต่อจากรถไฟฟ้าบนดิน(บีทีเอส) สายสีลมและสายสุขุมวิทที่เปิดให้บริการปัจจุบันคือโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงสถานีกรุงธนบุรี -สะพานพระปกเกล้ารถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงวัชรพล-ทองหล่ออยู่ระหว่างศึกษา

ปลดล็อกสายสีทองลอยฟ้า

สำหรับรถไฟสายสีทองผู้ว่าฯกทม.ระบุว่าแนวเส้นทางอยู่ในรัศมีเกาะรัตนโกสินทร์รัศมี 25 ตารางกิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2553 จะต้องก่อสร้างมุดลงใต้ดิน เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ แต่เนื่องจาก รถไฟสายสีทอง เป็นระบบรอง ระยะที่ 1 มีเส้นทางเพียง 1.8 กิโลเมตรจึงเสนอครม. สร้างแบบลอยฟ้าแทน เพราะ เส้นทางสั้นขณะที่ความจำเป็นต่อการแก้จราจรมีสูงอย่างไรก็ดีวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ครม.จะนำเรื่องนี้พิจารณาซึ่ง ผู้ว่าฯกทม. ยํ้าว่าผ่านความเห็นชอบแน่นอน ขั้นตอนต่อไปทางกรุงเทพธนาคม จะดำเนินการก่อสร้างใช้เวลานาน 18 เดือน สำหรับแนวสายทาง ผู้ว่าฯ เล่าว่ามี 2 ระยะ รวมกว่า 4 กิโลเมตร ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร วงเงิน 2,512 ล้านบาท เริ่มจาก สถานีกรุงธนบุรี ลอดใต้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ผ่านถนนเจริญนคร เลี้ยวซ้ายผ่านคลองสานไปเจอกับรถไฟสายสีแดงบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสินระยะที่ 2 ต่อจากสายสีแดงไปยังถนนประชาธิปก สะพานพุทธ เชื่อม รถไฟสายสีม่วง ประมาณ 2 กิโลเมตร มูลค่า 1,333 ล้านบาท

รับโอนต่อขยายสีเขียว

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 ช่วงส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-ลำลูกกา-คูคตที่ รฟม.จะโอนระบบอาณัติสัญญาณให้กับกทม.จัดการเดินรถ ซึ่ง กทม.เองจะต้อง รับทรัพย์สินทั้งหมด รวม กว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นค่าจัดกรรสิทธิ์ 3,557 ล้านบาท ที่จะชำระก้อนแรก ผู้ว่าฯกทม.ยืนยันว่าไม่น่ามีปัญหา ซึ่งจะใช้งบของกทม.เอง แต่ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องส่งหลักฐานดังกล่าวมาก่อนว่าค่าจัดกรรมสิทธิ์เป็นวงเงินเท่านี้จริง ขณะที่ส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นงวดเริ่มปี 2573

ไม่ตัดถนนใหม่เพิ่ม

เมื่อสอบถามว่า จะก่อสร้างถนนเส้นใหม่ๆ หรือไม่ ผู้ว่าฯยืนยันว่า จะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สร้างถนนเส้นใหม่ๆแต่จะเร่งสะสางโครงการที่มีงบผูกพันให้จบ

ใช้งบ 7.6 หมื่นล.โปร่งใส

ก่อนรับตำแหน่ง งบประมาณของกทม.ผ่านสภากทม.แล้ว 7.6 หมื่นล้านบาทซึ่งจะบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนกรุงเทพฯแบบ NOW! “ผลักดันแก้ไขทันที ตามนโยบาย 5 อย่าง คือ 1.สะอาด คือให้ทุกเขตทำความสะอาดพื้นที่เดือนละ 1 ครั้ง 2.สะดวก 3.ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน 4.คุณภาพชีวิตดี และ5.วิถีพอเพียงและ19 ภารกิจผลักดันทันทีที่เห็นผลใน 6 เดือนถึงไม่เกิน 1 ปี อาทิ ตั้งศูนย์บริการประชาชนฉับไว การแก้ปัญหา ตึกร้าง เพื่อความปลอดภัย แก้ปัญหาอาชญากรรม ติดตั้งสัญญาไฟ กล้องวงจรปิด การแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ให้เกินปัญหาน้ำรอระบาย
นอกจากนี้ มีแผนปลูกป่าในใจคนแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะที่ชายทะเลบางขุนเทียนและ ทำสวนลอยฟ้าเป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559