เตรียมประชุมผู้ส่งออกแจ้งแผนแก้ปัญหาสารตกค้างก่อนบานปลาย

15 ธ.ค. 2559 | 13:43 น.
กรมวิชาการเกษตร  เตรียมจัดประชุมผู้ส่งออกกระเจี๊ยบเขียวและหน่อไม้ฝรั่ง รับทราบปัญหาประเทศคู่ค้าแจ้งเตือนสารตกค้าง ก่อนลุกลามถึงขั้นระงับการส่งออก  ย้ำพบปัญหาเพียงบริษัทเดียว  พร้อมส่งแผนชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาให้คู่ค้าพิจารณาแล้ว

นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ตรวจพบสารไพริดาเบน( Pyridaben)  ตกค้างในกระเจี๊ยบเขียวสดส่งออกเกินค่ามาตรฐาน MRL 0.01 ppm  จากผู้บริษัทผู้ส่งออกแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ทำให้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นปรับระดับการสุ่มตรวจสารดังกล่าวเป็นร้อยละ 30  และหากตรวจพบสารตกตกค้างเกินค่ามาตรฐานอีกจะพิจารณากักกันกระเจี๊ยบเขียวทุกรุ่นที่นำเข้าจากประเทศไทยเพื่อตรวจสอบสารไพริดาเบนก่อนปล่อยสินค้าออก   เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้บริษัทผู้ส่งออกของไทยที่มีปัญหาดังกล่าวได้รับทราบและเร่งตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ในขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาดังกล่าวส่งให้ญี่ปุ่นพิจารณาแล้ว   นอกจากนี้ยังได้แจ้งไปยังผู้ส่งออกรายอื่นๆ ให้ทราบถึงปัญหาดังกล่าวและเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบผลผลิตก่อนส่งออกด้วย

ทั้งนี้การส่งออกกระเจี๊ยบเขียวไปประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการจัดทำโครงการการจัดการสารเคมีในผัก  ผลไม้ เพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่นตามข้อตกลงระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น  โดยมีข้อกำหนดว่าผลผลิตที่จะส่งออกต้องมาจากแปลงที่อยู่ในระบบ GAP  ผ่านการคัดบรรจุในโรงงานที่ได้รับการรับรอง GMP  และก่อนส่งออกต้องมีการตรวจผลิตผลเพื่อขอใบรับรองสุขอนามัยจากกรมวิชาการเกษตรแนบไปกับสินค้าที่ส่งออกด้วย   ซึ่งปัจจุบันมีผู้ส่งออกเข้าร่วมโครงการจำนวน 12 ราย   ในกรณีที่เจอปัญหาญี่ปุ่นจะระงับการผู้ส่งออกในโครงการเป็นรายๆไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวต่อไปว่า  ส่วนในกรณีของไต้หวันตรวจพบสารตกค้างในหน่อไม้ฝรั่งที่นำเข้าจากปะเทศไทยนั้น  เนื่องจากที่ผ่านมาหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อพืชควบคุมเฉพาะที่ส่งออกไปไต้หวัน  ผลผลิตที่ส่งออกจึงไม่ต้องมาจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP  รวมทั้งไม่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยแนบไปกับสินค้า  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน  2559 ที่ผ่านมาได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้หน่อไม้ฝรั่งที่ส่งออกไปไต้หวันเป็นพืชควบคุมเฉพาะ  ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ที่ต้องการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปไต้หวันต้องส่งผลผลิตที่มาจากแปลง GAP และผ่านการคัดบรรจุในโรงงานที่ได้รับการรับรอง GMP พร้อมกับต้องมีการตรวจสอบผลผลิตก่อนส่งออกเพื่อขอใบรับรองสุขอนามัย    ซึ่งประกาศดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 มกราคม  2560 โดยปัจจุบันมีแปลงหน่อไม้ฝรั่งที่อยู่ในระบบ GAP รวมจำนวนทั้งสิ้น 987 แปลง

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณีนั้น   กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมจัดประชุมผู้ส่งออกพืชทั้ง 2 ชนิดของไทยเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  และขอให้ผู้ส่งออกเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบผลผลิตก่อนส่งออก  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก  เนื่องจากจะส่งผลผลระทบไปถึงผู้ส่งออกรายอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ปฏิบัติถูกต้อง  รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว