"ฟ๊อกซ์" ฟ้อง "ธ.กรุงเทพ" 2,500 ล้าน เบี้ยจ่ายแบงก์การันตีแทน แกรมมี่-ซีทีเอช

14 ธ.ค. 2559 | 11:38 น.
--14ธค.59--นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัทฟ๊อกซ์ เน็ตเวิรค์ กรุ๊ป ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง เปิดเผยว่า ได้ยื่นเรื่องต่อศาลที่ฮ่องกงและประเทศไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ที่ไม่จ่ายแบงก์การันตี สำหรับสัญญาให้สิทธิ์ในการออกอากาศรายการต่างๆ กับจีเอ็มเอ็มและซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งสองบริษัทได้ค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาทและต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีเพื่อค้ำประกันการชำระเงินให้กับจีเอ็มเอ็มและซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ทำตามสัญญาเพื่อจ่ายค่าแบงก์การันตีแทน 2 บริษัท

"ฟ๊อกซ์ผิดหวังมากที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงในอันดับต้น ๆของประเทศของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี การผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้นแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทยในระดับที่สูง"

"3 ปีที่แล้วกสทช.ได้เปิดประมูลใบอนุญาตการดำเนินกิจการทีวีดิจิทัล และสร้างรายไดให้รัฐกว่า 50,000 ล้านบาทโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีรายใหญ่ที่สุดกับผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลในประเทศจำนวน 14 รายจาก 24 รายคิดเป็นเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาทหรือราวร้อยละ 41 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด "

"ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการซื้อเวลาโฆษณาในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่องทีวีดิจิทัล ครึ่งแรกของปีนี้มีเม็ดเงินโฆษณาเพียง 9 พันล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และการซื้อโฆษณาผ่านทีวีอนาล็อกลดลงร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่ารวม 26,000 ล้านบาทมาจากเศรษฐกิจไม่ดี "

นายกานเดเวียระบุว่า ความน่าเชื่อถือของธนาคารเป็นทรัพย์สินสำคัญที่สุดของผู้ให้บริการการเงิน การทำหน้าที่ผู้ค้ำประกันตามสัญญาถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นต่อธนาคารไทย การเพิกเฉยของธนาคารกรุงเทพถือเป็นความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารเอง

มีรายงานจากธนาคารกรุงเทพระบุว่า กรณีของฟ๊อกซ์เหมือนกับกรณีของนางพันธ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ที่ประมูลทีวีดิจิทัล ไทยทีวี และโลก้า ที่่ไม่สามารถทำธุรกิจและจ่ายค่าสัมปทานได้ จนต้องปิดกิจการลงซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ธนาคารจะต้องรอคำสั่งศาลหรือเจ้าของกิจการสั่งให้จ่ายเงิน

กรณีของฟ๊อกซ์ก็เช่นกันและมีคู่กรณีสองราย รายหนึ่งฟ้องร้องกันอยู่ อีกรายอยู่ระหว่างการเจรจา ธนาคารในฐานะผู้ถือแบงก์การันตีต้องรอให้การฟ้องร้องมีคำพิพากษาเป็นที่สุดจึงจะสามารถจ่ายเงินได้

ล่าสุด ด้านธนาคารกรุงเทพได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยนายคณิต สีห์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกรณีที่ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ โดยระบุว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ธนาคารกรุงเทพ’ ปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพ ทำให้ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ซีทีเอช’ ไว้ โดย ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คกรุ๊ป เอเชีย หรือ ‘ฟ็อกซ์’ เป็นผู้รับประโยชน์ในฐานะคู่สัญญากับ ซีทีเอช นั้น

ขอชี้แจงว่า ธนาคารกรุงเทพได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันซีทีเอช ให้ไว้กับฟ็อกซ์จริง โดยมีเงื่อนไขว่าหากซีทีเอชผิดสัญญาที่ซีทีเอชทำไว้กับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพจึงจะจ่ายเงินให้ฟ็อกซ์ ซึ่งสัญญาที่ซีทีเอชทำกับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพมิได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจึงไม่ใช่คู่สัญญากับ ฟ็อกซ์โดยตรง ฟ็อกซ์เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพทำให้ไว้ ทั้งนี้ซีทีเอชได้ยืนยันกับธนาคารกรุงเทพว่า ฟ็อกซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

ขณะนี้ ฟ็อกซ์ได้ยื่นฟ้องซีทีเอช และธนาคารกรุงเทพต่อศาลชั้นต้นที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพจึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การให้ข้อเท็จจริง หรือความเห็นที่มีลักษณะเป็นการชี้นำแก่ศาล อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลและเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณีที่ฟ็อกซ์ฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘จีเอ็มเอ็ม’ และธนาคารกรุงเทพในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าต่างประเทศกลาง ข้อเท็จจริงก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของซีทีเอช