ชาวเน็ตแห่ลงชื่อ! ต่อต้าน พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ชี้เปิดช่องรัฐ คุกคามสิทธิเสรีภาพปชช

14 ธ.ค. 2559 | 07:44 น.
หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ประเด็นร้อนแรงอย่าง "ซิงเกิล เกตเวย์" ถึงกับเกิดปรากฏการณ์ การโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยราชการถึง 7 แห่ง ผลที่ตามมาก็คือ บางเว็บไซต์ก็ล่ม บางเว็บไซต์ก็ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ ถึงแม้การโจมตีเว็บไซต์ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการโจมตีเว็บไซต์อย่างเปิดเผย

แต่วันนี้ "ซิงเกิล เกตเวย์" ชนวนเหตุขัดแย้งด้านไซเบอร์กลับมาปะทุอีกครั้ง เมื่อ "ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" ฉบับใหม่นี้ ถูกเว็บไซต์ที่มีอิทธิพลในรณรงค์ ระดมพลังสนับสนุนและต่อต้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยน อย่าง Change.org และชาวเน็ตอีกหลายคนมองว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีแนวโน้มแย่ลงกว่าฉบับเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน (2550) โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการแทรกแซงการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่มีความเป็นส่วนตัวและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ด้วยชนวนนี้เองทำให้ชาวเน็ตแห่ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ "หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล" ซึ่ง Change.org ต้องการล่ารายชื่อผู้สนันสนุนให้เกิดการเปลี่ยนในครั้งนี้ เพียง 150,000 คนเท่านั้น ซึ่งล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 102,001 คน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ให้เหตุผลผ่าน เว็บไซต์ Change.org ว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... หรือร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ที่องค์กรภาคประชาชน 6 องค์กรและประชาชนมากกว่า 22,000 คนเคยเข้าชื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาเมื่อต้นปี 2558 และรัฐบาลรับปากจะแก้ไขให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ผ่านไปหนึ่งปี พร้อมกับข่าวที่กระทรวงไอซีทีเสนอแนวคิด "ซิงเกิลเกตเวย์" (Single Gateway) เพื่อให้ควบคุมข้อมูลได้สะดวกขึ้น ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกปรับปรุงและส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน 2559 โดยคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในวันเดียวกัน พร้อมทั้งส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย

MCWCpKbjKsBcWiC-800x450-noPad
วันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ประชุมสนช.ได้พิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วาระที่ 1 โดยสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งอภิปรายว่า เนื้อหาของกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ถือเป็นความหมายที่กว้างและมีความเปราะบางมาก อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แต่สนช.ก็ยังมีมติเอกฉันท์รับหลักการด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมคือกระทรวงไอซีที) วางเป้าหมายประกาศใช้ร่างดังกล่าวภายในปี 2559 นี้

ปัจจุบันการแก้ไขใกล้แล้วเสร็จ เตรียมส่งให้สนช.พิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 15 ธ.ค. 2559 นี้ อย่างไรก็ตามข้อเป็นห่วงต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแต่อย่างใด อีกทั้งมีแนวโน้มแย่ลงกว่าฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน (2550) อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจะรบกวนการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่มีความเป็นส่วนตัวและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น

1. ปิดปากการตรวจสอบ
ความผิดฐานเผยแพร่ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ในมาตรา 14 (1) ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ความผิดดังกล่าวที่ผ่านมาถูกตีความใช้เพื่อจำกัดการตรวจสอบผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายมุ่งที่จะแก้ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเพื่อหลอกลวงออนไลน์เท่านั้น นอกจากนี้ มาตรา 14 (2) ของร่างที่แก้ไขใหม่ ยังกำหนดฐานความผิดอย่างคลุมเครือยิ่งขึ้น เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" หรือ "การบริการสาธารณะ" ซึ่งไม่มีนิยามชัดเจนในกฎหมาย อาจทำให้การบังคับใช้มีปัญหา เกิดการตีความโดยเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น

2. เปิดช่องไม่ต้องใช้คำสั่งศาล
ในข้อ 5 (2) ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 15 ของร่างใหม่ ระบุให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียจะต้องระงับหรือลบข้อมูลภายใน 3 วัน หลังได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ ซึ่งขั้นตอนการแจ้งตามมาตรา 15 ดังกล่าว ไม่มีการตรวจสอบโดยศาล และผู้แจ้งจะเป็นใครก็ได้ ทำให้ในทางปฏิบัติ การปิดเว็บด้วยมาตรา 15 จะทำได้สะดวกกว่าการใช้มาตรา 20 (ซึ่งต้องใช้คำสั่งศาล)

3. ข้อมูลส่วนบุคคลตกอยู่ในอันตราย
มาตรา 20 ของร่างใหม่ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมออกประกาศให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส-ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัส HTTPS ได้ โดยในข้อ 8 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ได้เขียนให้อำนาจผู้ให้บริการ (เช่นผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์) "ดําเนินการด้วยมาตรการทางเทคนิคใดๆ (Technical Measures) ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้บังเกิดผลตามคําสั่งศาล" ภายใน 15 วัน การกระทำดังกล่าวจะรบกวนระบบรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดเลยก็ตาม

4. ขยายอำนาจปิดเว็บ-ตั้งศูนย์บล็อคเว็บเบ็ดเสร็จ
อำนาจของมาตรา 20 ในร่างใหม่ ยังขยายไปถึงการปิดเว็บไซต์ที่อาจผิดกฎหมายอาญาอื่น รวมถึงเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่า "ละเมิดลิขสิทธิ์" ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการใช้ข้ออ้างดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้บริโภควิพากษ์วิจารณ์สินค้าหรือบริการของบริษัทเอกชน นอกจากนี้ในข้อ 4 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ยังจะให้มีการจัดตั้งศูนย์กลาง "เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทําการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง โดยอาจเชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการในแต่ละรายโดยความยินยอมของผู้ให้บริการก็ได้" ระบบดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการระงับและลบข้อมูลของฝั่งผู้ให้บริการได้ทันที ทำให้การตรวจสอบโดยศาล (ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจ) อาจถูกข้ามไปก่อนได้ในทางปฏิบัติ

5. "กบว.ออนไลน์" ปิดเว็บ "ผิดศีลธรรม" แม้ไม่ผิดกฎหมาย
มาตรา 20/1 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาใหม่ เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ จะส่งผลให้เว็บไซต์ถูก "บล็อค" ได้ แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ หรือ "กบว.ออนไลน์" นี้สามารถมีได้หลายคณะ แต่ละคณะจะมีกรรมการ 5 คนมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล และร่างกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการ (มาตรา 20/1 ตามร่างฉบับ 18 พ.ย. 2559 คือมาตรา 20 (4) ในร่างฉบับ 26 พ.ย. 2559)

นอกจากนี้ยังมีข้อเป็นห่วงถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติในมาตราอื่นๆ อีก เช่น มาตรา 16/2 (ภาระในการรู้ว่ามีข้อมูลที่มีความผิดอยู่ในระบบของตัวเองหรือไม่) มาตรา 18 (การยึดค้นระบบและได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 18 (2) และ 18 (3) โดยไม่ต้องใช้คำสั่งศาล) และมาตรา 26 (เพิ่มระยะเวลาเก็บข้อมูลการจราจร โดยไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ)

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ จึงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมายในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยพิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15, 18 ประกอบ 19, 20, และ 26 ให้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และให้การออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 16/2 และ 20/1 ออกจากร่าง

ที่มา : change.org