มหากาพย์เมล์NGVฉาว จาก‘ทักษิณ’ถึง‘ประยุทธ์’

16 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
รถเมล์เอ็นจีวีกำลังทยอยนำเข้าเพื่อให้ครบ 489 คัน ตามที่บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ผู้ชนะประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องส่งมอบให้ครบภายในวันที่ 29 ธ.ค.นี้

โครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 เมื่อครั้งนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2549แต่ถูก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นทำรัฐประหารเสียก่อนที่จะเริ่มโครงการ
เมื่อพรรคพลังประชาชน หรือ พรรคไทยรักไทยเดิม กลับมาชนะการเลือกตั้งหลังสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ในปี 2551 และโครงการรถเมล์เอ็นจีวีถูกผลักดันอีกครั้งจนกระทั่ง ครม.รับทราบแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ซึ่งในแผนนี้กำหนดใช้วิธีการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 6,000 คัน แต่ภายหลังได้ถูกปรับลดลงเหลือ 4,000 คัน

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายโสภณ ซารัมย์ รมช.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย คนสนิทของนายเนวิน ชิดชอบ ยังมีความพยายามผลักดันโครงการต่อ

โครงการนี้เริ่มถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสเพิ่มมากขึ้น เมื่อ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานพิจารณาติดตามการประกวดราคาเช่ารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติของ ขสมก.ในปี 2552 ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตของ ป.ป.ช.ในขณะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ การประกวดราคาการเช่ารถด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการที่สลับซับซ้อนจะเสี่ยงต่อการเปิดช่องทางการรั่วไหลของงบประมาณและเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการติดตามดูแล ประเมินผลว่าดำเนินการโครงการนี้อย่างปี 2554 เข้าสู่ช่วงท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีก็ยังไม่สามารถคลอดออกมา กระทั่งนายโสภณ ที่ขยับขึ้นมาเป็น รมว.คมนาคม ในโควตาของพรรคภูมิใจไทยตลอดอายุรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่สามารถผลักดันโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีได้สำเร็จ แม้จะปรับลดวงเงินลงจาก 69,000 ล้านบาท เหลือ 64,000 ล้านบาท หลังจากมีข้อวิจารณ์ถึงวงเงินที่สูงเกินไป รวมถึงการที่ ขสมก.ต้องแก้ไขร่างทีโออาร์เกือบ 20 ครั้ง และนายโสภณยังต้องคอยปฏิเสธว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ใช้โครงการนี้เพื่อหาทุนเพื่อเตรียมเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในกลางปี 2554

กระแสโจมตีโครงการนี้ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของโครงการเช่ารถเมล์อย่างจริงจัง เช่น ขึ้นคัตเอาต์ในกรุงเทพฯ ซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ แจกแผ่นพับให้ข้อมูลโครงการ 1 ล้านฉบับ แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการเริ่มต้นเช่ารถเมล์ได้ แถมยังถูกซื้อเวลาด้วยการส่งเรื่องให้สศช.และถึงแม้ ครม.จะเห็นชอบผลศึกษาของ สศช.และเห็นชอบเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน แต่นายอภิสิทธิ์กลับให้กระทรวงคมนาคม ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มอู่เติมก๊าซเอ็นจีวี การใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์และการป้องกันการทุจริตที่สังคมกำลังจับตาดูรวมแล้วโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีของพรรคภูมิใจไทยถูก ครม.อภิสิทธิ์ เห็นชอบในหลักการและถูกตีกลับเพื่อไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึง 3 ครั้ง

เมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ได้เดินหน้าโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี โดยให้เหตุผลเพื่อทดแทนรถเมล์เก่าที่มีอายุใช้งานถึง 20 ปี

ในช่วงต้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีข้อเสนอของ ขสมก.ที่เตรียมไว้ยังคงเป็นการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน แต่ต่อมา ครม.ชุดนี้ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 เปลี่ยนจากการเช่าเป็นจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท และให้ผนวกเข้ากับแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ซึ่งตามแผนจะมีการพัฒนาอู่จอดรถ และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดรวมอยู่ด้วย

โครงการนี้ถูก ป.ป.ช.จับตาดูอีกครั้ง และมีข้อเสนอให้หลีกเลี่ยงการจัดซื้อแบบวิธีพิเศษที่อาจจะไม่โปร่งใส และควรเปิดกว้างให้แข่งขันเสรีจากผู้ประกอบการทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการไทย รวมทั้งไม่ควรกำหนดคุณสมบัติเอื้อผู้ประกอบการบางราย แต่ที่สุดแล้วโครงการถูกพับแผนไปอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลดโครงการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเหลือ 489 คัน วงเงิน 1,738 ล้านบาท และส่วนที่เหลือ 2,694 คัน จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะซื้อรถเมล์เอ็นจีวีหรือรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการผลักดันรถใช้พลังงานไฟฟ้าให้เป็นโปรดักแชมเปี้ยนตัวใหม่ต่อจากอีโคคาร์

โครงการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเดินหน้าประมูลได้ โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 3.65 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าการประมูลรอบแรกผู้ยื่นซองประมูล 3 รายขาดคุณสมบัติ เพราะส่งเอกสารไม่ครบ ทำให้ต้องเปิดประมูลรอบที่ 2 ในเดือน ก.พ.2558 มีผู้ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ที่มี บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50% และอีกราย คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำสุดที่คันละ 3.5 ล้านบาท

บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ได้ยืนคัดค้านการประมูลรอบที่ 2 ว่าไม่โปร่งใส โดยนายเค่อนั่วหลิน ประธานบริษัทฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ในเดือน มิถุนายน 2558

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 บอร์ด ขสมก.ได้ยกเลิกการประมูล หลังจากพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และคณะกรรมาธิการคมนาคม สนช.ที่เห็นว่า ขสมก.ควรปรับปรุงเงื่อนไขการประมูล เพราะเงื่อนไขเดิมทำให้การเสนอราคาไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากผู้ร่วมประมูล ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ยื่นเรื่องเพื่อตรวจสอบ เช่น สตง.

ขสมก.ได้เปิดประมูลรอบที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2559 และเปิดยื่นซองประมูลในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีชื่อ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลด้วยแต่ปรากฏว่าบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ปฯ เสนอราคาตํ่าสุดที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล และขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวี กับ บริษัทเบสท์รินฯ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

บริษัทเบสท์รินฯ มอบหมายให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าฯ เป็นผู้นำเข้ารถเมล์ให้ โดยนำเข้ารถเมล์รวม 4 ล็อต และล็อตแรก 100คัน มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมแต่ถูกกรมศุลกากรตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะสงสัยว่ามีการสำแดงเท็จเพื่อใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้า 40% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน กรมศุลกากรต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปมาเลเซียเพื่อตรวจสอบการส่งออกรถเมล์และดูว่ามีการประกอบรถเมล์ที่มาเลเซียจริงหรือไม่ ทำให้บริษัทเบสท์รินฯยอมวางเงินประกันภาษีเพื่อนำรถเมล์ออกจากด่านศุลกากร โดยเบสท์รินต้องทยอยส่งมอบรถเมล์ให้ ขสมก.ภายในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ หากส่งมอบไม่ทันจะต้องเสียค่าปรับให้ขสมก.วันละ 1.7 หมื่นบาทต่อคัน

ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลื่อนการทดลองนั่งรถเมล์ปฐมฤกษ์ ในวันที่ 21 ธันวาคมออกไป และสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันหาจุดที่ลงตัวในการแก้ปัญหา!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,218 วันที่ 15-17 ธันวาคม 2559