“ไทย-จีน” บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ผลักดันขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

14 ธ.ค. 2559 | 01:35 น.
วันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เปิดเผยผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (สปจ.) ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ระหว่างวันที่ 12 – 13 ธ.ค. 59 ณ กรุงปักกิ่งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเดินทางเยือนครั้งนี้ โดยได้นำคณะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและมีมิตรไมตรี ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและรอบด้านในทุกระดับ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมคำนับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวในนามของรัฐบาลจีนและประชาชน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ต่อจากนั้นได้หารือสานต่อความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ขยายสู่ความเป็นรูปธรรมร่วมกัน ทั้งการท่องเที่ยว การคมนาคม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปและวางรากฐานประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยใช้กลไกและการบังคับใช้กฎหมายทางสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานความถูกต้องและเป็นธรรมแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยรวมแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและต่างประเทศที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ขณะเดียวกัน ได้พยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรและวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งรองรับ โดยยืนยันความร่วมมือกับจีนในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายหนองคาย – กทม. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 60 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการขยายความร่วมมือขนส่งสินค้าการเกษตรระหว่างกันและสามารถสอดรับกับยุทธศาสตร์ " One Belt One Road " ของจีน ควบคู่กับการเดินหน้าเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนของจีน ในการพัฒนาขยายโครงข่ายความเชื่อมโยงทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Internet Super Highway) ที่สามารถใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุนและการติดต่อสื่อสารของอาเซียน ในการขยายความเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงความขอบคุณ ถึงพัฒนาการแนวทางความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันที่ผ่านมา และหวังว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะได้ประชุมหารือผลักดันความร่วมมือกันโดยเร็ว พร้อมทั้งแสดงความเข้าใจ ถึงความจำเป็นที่ไทยต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อรักษาสิทธิ์ที่เป็นธรรมและประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับ 1 ของความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

สำหรับความร่วมมือในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายหนองคาย – กทม.นั้น คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้โดยเร็ว ด้วยความพยายามของทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมกันนี้ จีนยินดีที่จะขยายความร่วมมือด้านสินค้าการเกษตรกับไทย ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทย ทั้งด้านยาเสพติด การก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามชาติ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ. พร้อมทั้ง ขอฝากความปรารถนาดีมายัง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีโอกาสพบและพูดคุยกันหลายครั้งที่ผ่านมา

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางเข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กระทรวงกลาโหม โดยได้รับการต้อนรับด้วยมิตรภาพที่คุ้นเคยกันดีอย่างอบอุ่นยิ่ง ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือร่วมกันถึง การขยายความร่วมมือทางทหารระหว่าง 2 ประเทศให้มีขอบเขตครอบคลุมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น

โดย พล.อ.ประวิตร เสนอความเป็นไปได้ถึงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ประสงค์ให้จีนสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหารในไทย พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและขีดความสามารถในการพัฒนาและดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในจีนที่มีประจำการในประเทศไทย และภูมิภาค พร้อมกับเชิญชวนและเสนอให้จีน พิจารณาความพร้อมในการเข้าร่วมฝึก Cobra Gold ผ่านความร่วมมือด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และความร่วมมือทางการแพทย์ทหาร ขณะเดียวกันได้แสดงถึงความพร้อมของกห.ไทย ที่จะทำหน้าที่ร่วมกับจีนในฐานะประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้กรอบการประชุมรมว.กห.อาเซียนและรมว.กห.ประเทศคู่เจรจาในวงรอบ ปี 60-62

พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวแสดงความขอบคุณและพร้อมสนับสนุนให้กองทัพของทั้ง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางทหารในสาขาต่าง ๆให้มากขึ้น  โดยเสนอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน 3 ประการ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ 2) ความร่วมมือในการฝึกร่วม ทั้งทวิภาคี ไตรภาคีและพหุภาคี 3) ความร่วมมือกันด้านการป้องกันประเทศ พร้อมทั้งแสดงท่าทีเชิงบวกและการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอของไทยทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหารในไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในจีน ที่มีประจำการในไทยและภูมิภาค โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งคณะทำงาน ประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผ่านกลไกทางการทูตทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมคำนับ นายเมิ่ง เจี้ยนจู้ง สมาชิกกรมการเมือง หัวหน้าคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมาย คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ที่ทำการจงหนานไห่ โดยได้แลกเปลี่ยนหารือกันถึงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ ระหว่างไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ขณะดียวกัน ทั้งสองฝ่าย มีความกังวลร่วมกันในประเด็นความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ( Cyber Security ) ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สามารถสร้างความเสียหายทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงได้เป็นวงกว้าง ซึ่งไทยเสนอขอให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน สำหรับความร่วมมือในการดูแลผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น  หน่วยงานความมั่นคงทั้งสองฝ่าย จะร่วมประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านการข่าวเพื่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน และเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้การดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่กับความมั่นคงของรัฐ

พล.ต.คงชีพ กล่าวสรุปในภาพรวมว่า การเดินทางครั้งนี้ เป็นการขยายผลและสานต่อความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยและจีน ที่มีพัฒนาการและความคืบหน้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจีนให้ความสำคัญอย่างมากกับการเยือนของ พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะ ในครั้งนี้ โดยถือว่าเป็นสัญญานทางบวกที่ชัดเจนยิ่ง ต่อความร่วมมือในการผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของทั้งสองประเทศและภูมิภาค ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ เพื่อประชุมและทำงานผลักดันความร่วมมือกันและกันอย่างเต็มที่ต่อไปโดยใกล้ชิด ภายใต้กรอบความร่วมมือที่บรรลุข้อตกลงร่วมกัน รวมทั้งเร่งขยายความชัดเจนในเรื่องที่ยังไม่บรรลุข้อยุติ เพื่อผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศและภูมิภาคต่อไป