เดินหน้าแอคชั่นแพลนโครงสร้างพื้นฐานปี 60 รวม 36 โครงการวงเงินกว่า 8 แสนล้าน

13 ธ.ค. 2559 | 13:11 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ดังนี้   1. ครม.อนุมัติการจัดทำและลงนามร่างกฎเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจรสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ – ปอยเปต ซึ่งกระทรวงฯจะประชุมในระดับรัฐมนตรีของโครงการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเสนอการร่างกฎเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ของ MOU การแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจรระหว่างไทย – กัมพูชา มีประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มจำนวนรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ – ปอยเปต ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 40 คัน เพิ่มเป็น 150 คัน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ กระทรวงฯจะลงนามบันทึกความเข้าใจการเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำพรหมโหมดเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากสะพานข้ามแดนเดิมที่ปอยเปตค่อนข้างหนาแน่น จึงจำเป็นต้องสร้างเส้นทางให้เกิดการขนส่งสินค้าได้สะดวกขึ้น

2. ครม.เห็นชอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ – ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอก ถนนกาญจนาภิเษก ช่วงบางปะอิน – บางพลี) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2560 รวมจำนวน 7 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่เดินทางออกต่างจังหวัด และลดปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่าน

3. ครม.รับทราบแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในร่างกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) รวมทั้งยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558 – 2565) โดยมีโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม 895,757.55 ล้านบาท  แบ่งเป็น

- รถไฟทางคู่ จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม

- รถไฟชานเมือง จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รังสิต สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และตลิ่งชัน – ศาลายา

- รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 สายสีส้ม ตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมฯ สายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู สายสีเขียว คูคต – ลำลูกกา ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย (ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท) และระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต

- ทางหลวงพิเศษ และทางพิเศษ จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ สายนครปฐม – ชะอำ ทางหลวงพิเศษ สายหาดใหญ่ – ชายแดนไทย/มาเลเซีย ทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E – W Corridor และโครงการทางพิเศษ สายกระทู้ – ป่าตอง

- สิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางหลัก ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขขนส่งสินค้าเชียงของ ศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) และการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 8 จังหวัด)

- รถโดยสารสาธารณะ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การจัดซื้อรถโดยสารรถไฟฟ้า จำนวน 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า

- ระบบบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

- ทางน้ำ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน และท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3

- ทางอากาศ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค การปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ MRO ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ทั้งนี้ ในปี 2560 กระทรวงฯ มีแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โครงการต่อเนื่องจากปี 2559 และโครงการปี 2560 ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และกระทรวงฯ จะเร่งรัดและผลักดันการดำเนินงานโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยเร็วต่อไป