‘3พรรค’ชำแหละก.ม.ลูก ปม ‘เงื่อนเวลา’ อุปสรรคใหญ่

15 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
เกิดแรงกระเพื่อมมาตั้งแต่เริ่มยกร่าง กระทั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ดราฟต์แรกออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบปลายสัปดาห์ก่อน กลุ่มก้อนการเมืองต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต่างหวาดหวั่นว่าหากมีผลบังคับใช้จริงจะก่อให้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง

ดังเช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดฉากชำแหละร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองออกเป็นข้อๆโดยชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมากำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองใช้บุคคลเพียง 15 คน สามารถเข้าชื่อกันขอจดทะเบียนพรรคการเมืองได้ แต่ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องใช้คนถึง 500 คน

นอกจากนี้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ยังกำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำอุดมการณ์ของพรรคการเมืองเสนอต่อนายทะเบียน พร้อมกับจัดทำนโยบาย และข้อบังคับพรรค จะเป็นปัญหาการตีความอุดมการณ์ของพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้

ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติกำหนดว่า ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองฉบับดังกล่าวนี้ด้วยนั้น หากแต่ตามบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้พรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบถ้วนตามกฎหมายนี้ภายใน 150 วัน นับแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับ หากทำไม่เสร็จจะส่งผู้สมัครมิได้ ดังนั้น ระยะเวลาการเลือกตั้งกับระยะเวลาที่เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่บัญญัติไว้นั้นสอดคล้องกันหรือไม่

ถัดมา คือกำหนดให้เรียกเก็บค่าสมาชิกพรรค ที่หวังต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในพรรค แต่อาจทำให้จัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น ข้อกังวลอีกประการ คือ ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติและเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคและการตัดสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารไว้หลายกรณี อาทิ การไม่ดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง โดยกล่าวไว้กว้างๆว่า มีการกระทำที่อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เป็นถ้อยคำที่มีข้อเท็จจริงได้หลายกรณี การเขียนบทบัญญัติลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดการตีความตามอำเภอใจ จึงควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน

ประการสุดท้าย คือกรณีกำหนดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมบางประเภทเป็นอย่างน้อย อาทิ เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งบางปีอาจให้น้ำหนักแตกต่างกัน การกำหนดโทษถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารอาจจะไม่สมเหตุสมผล และเกินกว่าเหตุ

ไม่เว้นแม้แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองที่สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองโดยไม่เห็นด้วยกับการให้สมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงพรรค เนื่องจากประสบการณ์ที่พยายามให้จ่ายเงินค่าสมาชิกแค่ 20 บาท ยังได้ไม่ถึงหลักหมื่นคน ขณะเดียวกันการปรับระบบให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าบำรุงพรรค 100 บาทต่อปีภายในระยะเวลา 150 วัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะติดต่อสมาชิกทั้งหมดได้ในเวลาที่จำกัด ไม่นับรวมกับการจัดทำเอกสารของสมาชิก ออกใบเสร็จ สำเนาบัตรประชาชน เรื่องระยะเวลา จึงเป็นอุปสรรคมาก

ขณะเดียวกันระบบกฎหมายไทยปัจจุบัน เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการ เนื่องจากเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วจะทำให้เสียสิทธิในเรื่องอื่นๆ อาทิ กฎหมายกำหนดให้ผู้เป็นสมาชิกพรรค หรือเคยเป็นสมาชิกพรรค ห้ามไปดำรงตำแหน่ง ห้ามเข้าสู่กระบวนการสรรหา เป็นต้น ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ผู้ที่ผูกพันกับพรรคแต่ยังไม่พร้อมที่ต้องจ่ายเงินให้พรรค น่าจะอนุญาตให้คนกลุ่มนี้เป็นสมาชิกอีกประเภทหนึ่ง โดยไม่ต้องไปมีสิทธิตามกฎหมาย

สอดรับกับความเห็นของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชี้ว่าการกำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีข้อจำกัด และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นนั้น อาจมีส่วนทำให้ผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อยากตั้งพรรคการเมืองมีโอกาสยากขึ้น เพราะต้องใช้คนเริ่มต้นตั้งพรรคถึง 500 คน และต้องหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี ทั้งยังต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนภายใน 4 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย

ฝากของพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความเห็นว่า ในบทเฉพาะกาลในส่วนของระยะเวลาที่พรรคการเมืองปัจจุบันต้องทำระบบสมาชิกพรรค และแก้ไขข้อบังคับ พร้อมจัดทำประกาศคำอุดมการณ์ รวมถึงนโยบายพรรค หรือที่เรียกว่า การรีเซตสมาชิก และรีไรต์กิจการของพรรคการเมืองที่ถูกโยงเข้ากับการระงับสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ ตามกำหนดเวลาที่ให้ไว้ ทั้ง 150 วัน หรือ 180 วันนั้น พรรคการเมืองปฏิบัติให้แล้วเสร็จได้ยาก

นอกจากนี้ในบทว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองนั้น ในส่วนของประเด็นที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา อาทิ ฝ่าฝืนให้บุคคลภายนอกก้าวก่าย แทรกแซงกิจการภายใน ถือเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคถูกลงโทษโดยไม่มีความผิดได้

ท่าทีความกังวลของพรรคการเมืองต่อร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่พวกเขามองว่า "เงื่อนเวลา" ในเรื่องต่าง ๆ ที่กรธ.กำหนดไว้ นับเป็นปัญหาอุปสรรคที่ปฏิบัติได้จริงยาก และมีการส่งสัญญาณไปยัง กรธ. จะมีการทบทวนในชั้น กรธ. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,218 วันที่ 15-17 ธันวาคม 2559